อัพเดตแผน Aviation Hub บวท.ปั้นสนามบินเทียบชั้นฮีโทรว์

<p></p><p>นโยบาย Aviation Hub หรือ “ฮับการบิน” เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ ของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ</p><p> ดังนั้น รัฐบาลจึงวางแผนในการศึกษาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในประเทศ ไม่ว่าสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่าง ภูเก็ต กระบี่ และอีกหลายสนามบิน เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบินในปี 2568 และรองรับปริมาณเที่ยวบิน 2 ล้านเที่ยวบินในปี 2580 ตั้งเป้าสู่ความเป็น Aviation Hub ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 120 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้า Cargo จำนวน 3 ล้านตันภายในปี 2570 ตามเป้าหมาย</p><p> ฮีโทรว์-ฟูกูโอกะต้นแบบ</p><p> หนึ่งในหน่วยงานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินคือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า หน้าที่ของ บวท.ในการทำให้ไทยเป็น “ฮับการบิน” ต้องประสานงานในระดับนานาชาติสร้างเส้นทางการบิน ขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อทำให้ไทยเป็นฮับการบิน ขณะเดียวกันสนามบินในประเทศที่เป็น International Airport ต้องทำให้ได้มาตรฐานนานาชาติ</p><p> โดยจะใช้กลไกในการเปรียบเทียบสมรรถนะของสนามบินของไทย เช่น ระดับสนามบินขนาดใหญ่ ระดับแสนเที่ยวบินต่อปี ทั้งสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ อนาคตคือสนามบินอู่ตะเภา สนามบินอันดามัน สนามบินล้านนา จะเทียบสมรรถนะกับสนามบินฮีโทรว์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสนามบินที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ เที่ยวบินระดับแสนเที่ยวต่อปี ระดับที่สอง สนามบินขนาด 1 รันเวย์ เช่น สนามบินภูเก็ต ซึ่งมีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จึงต้องมีแผนเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน เพราะเมื่อเทียบสมรรถนะกับสนามบินฟูกูโอกะ ที่มี 1 รันเวย์ แต่สามารถรับเที่ยวบินได้ 38 เที่ยวบินต่อชั่วโมง</p><p> ดังนั้น บวท.จึงศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยนำสนามบินฟูกูโอกะมาเป็นคู่เทียบ Benchmark เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพ ปรับปรุงสนามบินภูเก็ตให้รองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมาย 35 เที่ยวบินต่อชั่วโมงในปี 2568 ซึ่งจะทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้มหาศาล นอกจากนี้ยังจะไปปรับใช้กับสนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินกระบี่ สนามบินสุราษฎร์ธานี ให้มีขีดความสามารถสูงในระดับนานาชาติได้</p><p> เตรียมกู้ลงทุน 3,600 ล้าน</p><p> ด้านการลงทุนขนาดใหญ่ของ บวท. มีแผนการลงทุนใน 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภา สนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา แห่งละ 1,200 ล้านบาท รวม 3,600 ล้านบาท เพื่อลงทุนหอบังคับการบินและระบบการจราจรทางอากาศ โดยกู้เงินจาก Exim Bank หรือธนาคารกรุงไทย รัฐไม่ต้องค้ำประกัน ไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งศักยภาพในการกู้เงินของ บวท.ไม่น่ามีปัญหา รายได้เกินหมื่นล้านต่อปี ซึ่งสนามบินอู่ตะเภา บวท.มีแผน เราติดตั้งเสร็จใช้งานได้ คือ ธันวาคม 2572 ส่วนสนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา</p><p> ขณะนี้ได้จ้างให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ขนาดโครงการ การเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ดูขนาดของโครงการ ซึ่งคาดว่าในการก่อสร้างสนามบิน ทั้งสนามบินอันดามัน และสนามบินล้านนา ซึ่งใน 2 สนามบินนี้ต้องเซ็นสัญญาก่อนเลือกตั้ง 2570 เสร็จในปี 2573</p><p> นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กล่าวว่า ความสำคัญของสนามบินไทยในอนาคต ในแต่ละภูมิภาคจะมีเป็นการเชื่อม 3 สนามบินต่อเนื่องกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถของสนามบิน กลุ่มแรก ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ โดยมีสนามบินอันดามัน ที่ อ.โคกกลอย จ.พังงา ตั้งตรงกลาง กลุ่มที่สาม สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง มีสนามบินล้านนา ที่บ้านธิ จ.ลำพูน ตั้งอยู่ตรงกลาง</p><p> นอกจากนี้ AOT ก็ยังขยายสนามบินเดิม ทั้งภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ เช่น สนามบินเชียงใหม่ได้ขยายหลุมจอดด้วยเช่นกัน</p><p> อัพเกรดหอการบินอัจฉริยะ</p><p> นอกจากนี้ บวท. อยู่ระหว่างพัฒนาแนวทางการใช้งานระบบหอบังคับการบินอัจฉริยะ หรือ Digital Tower ซึ่งเป็นระบบ AI ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสามารถมองเห็นภาพที่สมจริงและครอบคลุมพื้นที่ของสนามบิน แก้ปัญหาจุดอับสายตา ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เพิ่มระดับความปลอดภัยการใช้งานทางวิ่ง ทางขับ เพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ และทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น</p><p> อีกทั้งยังสามารถพัฒนารองรับการขยายสนามบินในอนาคตโดยไม่ต้องสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศใหม่เพิ่ม สามารถพัฒนาเป็นหอควบคุมการจราจรทางอากาศสำรอง (Contingency/Backup Tower) รวมถึงพัฒนาเป็นห้องฝึกปฏิบัติจำลอง (3D Simulator) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศได้</p><p> โดยในระยะแรกมีแผนนำเทคโนโลยี Digital Tower เข้าใช้งาน ณ สนามบินที่มีความหนาแน่นสูง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และสมุย ในปี 2569 จากนั้นในระยะถัดไป จะเป็นการนำเข้าใช้งานสำหรับสนามบินที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศน้อย ในลักษณะ Remote Tower เพื่อช่วยลดภาระในการส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศไปประจำ ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส และเบตง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2570</p><p> นอกจากนี้ บวท.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลระบบบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ หรือ Air Traffic Flow Management (ATFM) และ Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ซึ่งเป็นกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้ใช้งาน ผู้ให้บริการ และผู้ดำเนินงานสนามบินเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจราจรทางอากาศและการบริหารความคล่องตัวจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน</p><p> อัพเกรดสนามบินภูมิภาค</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินส่วนภูมิภาคทั้ง 9 แห่งยังมีโครงการสำคัญ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการให้บริการ (Provincial Air Traffic Control Center Excellent Initiative Program) และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ดังนี้</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต จัดทำโครงการรองรับการปฏิบัติการบินและการให้บริการอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane ที่มีแผนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายในปี 2568 นี้</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ จัดทำโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการสนับสนุนการปฏิบัติการบินภารกิจป้องกันและดับไฟป่าและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ จัดทำโครงการติดตั้ง 3D Aerodrome Simulator และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศครบวงจร (Air Traffic Control Training Center) ภายในปี 2568 และจัดทำโครงการการนำระบบหอควบคุมจราจรทางอากาศอัจฉริยะ หรือ Digital Remote Tower เข้าใช้งาน ณ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินนราธิวาส และสนามบินเบตง ภายในปี 2569</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก จัดทำโครงการการให้บริการจราจรทางอากาศเขตสนามบิน ประเภท Aerodrome Flight Information Service หรือ AFIS สำหรับสนามบินที่มีปริมาณเที่ยวบินน้อย โดยใช้ระบบ AFIS ให้บริการจราจรทางอากาศแทนเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งมีแผนนำเข้าใช้งานครั้งแรกในประเทศไทย ณ สนามบินแพร่ และสนามบินเพชรบูรณ์ ภายในปี 2568</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน บวท. มีแผนติดตั้งระบบเรดาร์ทุติยภูมิ (Secondary Surveillance Radar : SSR) ทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามอากาศยาน และประสานกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของสนามบิน เพื่อยกระดับสนามบินให้รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ อีกทั้งร่วมสนับสนุนสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในภารกิจของศูนย์ฝึกอบรมนักบินพลเรือน รวมถึงการจัดทำโครงการ AFIS ณ สนามบินตราด</p><p> ตั้งสนามบินน้ำที่สุราษฎร์</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินสุราษฎร์ธานี สนับสนุนการจัดตั้งสนามบินน้ำ เพื่อรองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการให้บริการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง (Advance Air Mobility : AAM) ณ สนามบินสมุย</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี ดำเนินโครงการต้นแบบ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้งานโดรนทางการเกษตรในพื้นที่ห้วงอากาศควบคุม ภายใต้ “โครงการโดรนเกษตรปลอดภัย” ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ และเกิดความปลอดภัย ณ จังหวัดนครพนม หรือนครพนมโมเดล โดยมีแผนจะนำองค์ความรู้ขยายผลไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี ดำเนินโครงการรณรงค์การใช้ห้วงอากาศปลอดภัย ในการจุด/ปล่อยบั้งไฟ ในช่วงเทศกาลตามประเพณีท้องถิ่น</p><p> ศูนย์ควบคุมการบินนครราชสีมา จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการให้บริการข่าวสารการบินนอกพื้นที่ห้วงอากาศควบคุม บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ (Flight Information Service หรือ FIS) แห่งแรกในประเทศไทย และร่วมสนับสนุนโรงเรียนการบิน ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบินเอกชน ของบริษัท Bangkok Aviation Center จำกัด (BAC)</p><p style="font-size:13px;">9/3/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 9 มีนาคม 2568 )</p>