‘โฮมสุขภัณฑ์’ @ เชียงใหม่ กระเบื้องแฟชั่นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค

<p></p><p>ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์นานกว่า 4 ทศวรรษ ธุรกิจโมเดิร์นเทรดกระเบื้องและวัสดุตกแต่งที่เป็นหนึ่งในเจ้าตลาดกลุ่มทุนท้องถิ่นเชียงใหม่ “โฮมสุขภัณฑ์” กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง</p><p> จุดเปลี่ยนที่มาจากประโยควรรคทองที่ว่า “…การเติบโตของโฮมสุขภัณฑ์อยู่ที่การขยายสาขา ปกติถ้าไม่ขยายสาขาเราโตเฉลี่ยปีละ 5% แต่ถ้ามีสาขาเยอะจะโตได้ถึง 30%” คำกล่าวของ “นพ อนุรุทธิ์เนตรศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม สุขภัณฑ์ จํากัด (มหาชน)</p><p> รีแบรนด์ปาร์เกต์สู่ผู้นำกระเบื้อง</p><p> จากจุดเริ่มต้นผู้บริหาร Gen 1 รุ่นคุณพ่อคุณแม่ “นรินทร์-อุไรวรรณ อนุรุทธิ์เนตรศิริ” มีรากฐานธุรกิจจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งไม้ปาร์เกต์ ต่อมาในปี 2524 จดทะเบียนตั้งนิติบุคคล “หจก.เชียงใหม่ลำปางปาร์เก้สุขภัณฑ์” อาคารพาณิชย์ 3 คูหา บนถนนช้างเผือก รายได้เริ่มไต่จากหลักสิบล้านสู่หลักร้อยล้านบาท หลังจากปี 2528 ที่เริ่มแตกไลน์ธุรกิจด้วยการเพิ่มเติมสินค้ากระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ชุดครัว และวัสดุตกแต่ง</p><p> บนรอยต่อของผู้บริหาร Gen 2 “นพ อนุรุทธิ์เนตรศิริ” ทายาทธุรกิจ ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ รหัส 30 (ปี 2530) ซึ่งเป็นผู้ติดตามคุณพ่อนรินทร์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตอนนั้นงานติดตั้งไม้ปาร์เกต์กำลังบูมสุดขีด คุณพ่อนรินทร์มือขึ้นรับงานทั่วภาคเหนือ เป็นไม้ไซซ์ 7 นิ้วลายก้างปลา วันปกติมีพนักงาน 40-50 คน วันอาทิตย์ทำงานครึ่งวันมีพนักงาน 2 คน โดยมีตัวยืนคือ “นพ” นั่งฉีกกระดาษรองไม้ปาร์เกต์สำหรับเตรียมส่งมอบเพื่อติดตั้งบ้านลูกค้า</p><p> “ตอนเรียนมัธยมฯ ออฟฟิศเป็นตึกแถวอยู่ช้างเผือก ทุก 8 โมงเช้าคุณพ่อต้องปลุกให้ลงมาช่วยงาน เปิดครึ่งวันอาทิตย์ จ้างพนักงานสองคน ที่เหลือผมทำ คุณพ่อฝึกให้เราขายของและส่งของด้วยนะ (ยิ้ม)”</p><p> งานเลี้ยงมีวันเลิกรา ผลกระทบนโยบายปิดป่าของรัฐบาลก็เลยเลิกทำไม้ปาร์เกต์ เบนเข็มมาจับสินค้ากระเบื้องแทน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงยุคที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2528 รายได้องค์กรแตะหลัก 200-300 ล้านบาท จนกระทั่งปี 2548 “เอ็มดีนพ” แสดงภาวะผู้นำอีกครั้ง ด้วยการรีแบรนด์องค์กรครั้งใหญ่ จากเชียงใหม่ลำปางปาร์เก้มาสู่แบรนด์ “โฮมสุขภัณฑ์”</p><p> บันทึกที่ต้องจดจำ โฮมสุขภัณฑ์จะเป็นแบรนด์ที่กำลังเตรียมตัวเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ตามแผนที่วางไว้คาดว่าจะได้เห็นภายในปี 2568 เพราะ “นพ” ตกผลึกตั้งแต่เกือบ 20 ปีมาแล้ว ว่าสินค้ารากฐานธุรกิจเป็นวัสดุเกี่ยวกับบ้าน เพราะฉะนั้นชื่อแบรนด์จะต้องมีคำว่าโฮม ส่วนคำว่าสุขภัณฑ์มาจากการปั้นรายได้หลัก 200 กว่าล้านบาทสู่หลักพันล้านบาท เป็นความสำเร็จจากการบุกเบิกตลาดกระเบื้องแฟชั่นและวัสดุตกแต่งอย่างแท้จริง</p><p> ไฮไลต์ DC 30,000 ตารางเมตร</p><p> “ปี 2548 ตึกแถว 3 ห้องบนถนนช้างเผือกเริ่มคับแคบเมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจ ก็เลยปรึกษาคุณพ่อต้องขยับขยาย เพราะรถพ่วงเข้าไม่ได้ จังหวะมีคนมาเสนอขายที่ไร่ละ 2 ล้าน เราซื้อมาทั้งหมด 38 ไร่ ทำเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่โฮมสุขภัณฑ์ในปัจจุบัน ทำเลถนนวงแหวนสันทราย แบรนด์ใหม่ สโตร์ใหม่มีพื้นที่เบื้องต้น 6,000 ตารางเมตร เราลงทุนไปกับการนำเทคโนโลยีด้านไอทีที่ทันสมัย จัดรูปแบบดิสเพลย์ใกล้เคียงกับโมเดิร์นเทรดมากขึ้น ผลตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เรามีเมมเบอร์หลัก 1-2 หมื่นราย”</p><p> ปีหน้าแบรนด์โฮมสุขภัณฑ์จะครบรอบรีแบรนด์ 20 ปี พื้นที่ขายเพิ่มเป็น 7,000 ตารางเมตร ควบคู่การเติบใหญ่ทางธุรกิจด้วยการขยายสาขา 4 สาขา ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ (สำนักงานใหญ่), เชียงราย 1 สาขา, แม่สาย 1 สาขา และพะเยาอีก 1 สาขา ดังนี้</p><p> สาขาเชียงใหม่ พื้นที่ขายจาก 6,000 เพิ่มเป็น 7,200 ตารางเมตร</p><p> สาขาเชียงราย พื้นที่ขาย 5,000 ตารางเมตร กับสาขาแม่สาย พื้นที่ 400 ตารางเมตร เป็นสาขาเพื่อปรับโฟกัสพื้นที่การตลาดจากออร์เดอร์ลูกค้าเมียนมา</p><p> และสาขาพะเยา พื้นที่ขาย 1,200 ตารางเมตร</p><p> ไฮไลต์อยู่ที่โฮมสุขภัณฑ์มีแวร์เฮาส์หรือ DC-Distribution Center ขนาด 30,000 ตารางเมตร อยู่บริเวณเดียวกับแลนด์แบงก์ 38 ไร่ในเชียงใหม่ เป็นหมัดเด็ดที่ทำให้คู่แข่งขันทำตามได้ยาก เพราะสต๊อกสินค้ากระเบื้องมูลค่า 260 ล้านบาท รองรับยอดขาย 3 เดือน จุดเน้นอยู่ที่การสต๊อกสินค้ามูลค่าสูง ทำให้เพิ่มโอกาสซื้อใจผู้บริโภค เพราะเมื่อเลือกลวดลายกระเบื้องที่โดนใจแล้ว สามารถหยิบจากแวร์เฮาส์ส่งได้รวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน</p><p> สูตรธุรกิจมัดใจลูกค้าเจ้าของบ้าน</p><p> ในด้านยอดขาย “นพ” เป็นผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ผลักดันยอดขายหลักพันล้านบาทมาตั้งแต่ยุครีแบรนด์เป็นโฮมสุขภัณฑ์ ล่าสุด ณ ปี 2564 มีรายได้รวม 1,077 ล้านบาท, ปี 2565 รายได้ 1,338 ล้านบาท, ปี 2566 รายได้ 1,236 ล้านบาท</p><p> เป้ารายได้ปี 2567 จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง มีรายได้ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา 544 ล้านบาท คาดว่าจะจบรายได้ทั้งปีที่ 1,100 ล้านบาท เป็นเป้ารายได้ที่ไม่ฝืนแรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจ เพราะเผชิญกับปัจจัยท้าทายรอบด้าน ทั้งสงคราม กำลังซื้อชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกขาลง</p><p> แผนธุรกิจปี 2568 เป็นปีแห่งการสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้ง โฮมสุขภัณฑ์ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 15% จากการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ เช่น วัสดุไม้เทียม, ไม้ระแนง, WPC วัสดุตกแต่งภายนอก และสุขภัณฑ์อัตโนมัติยี่ห้อ H&B ราคา 15,000-20,000 บาท รวมทั้งเพิ่มสินค้าเฮาส์แบรนด์ จากสัดส่วน 2-3% ต้องการเพิ่มสัดส่วนเป็น 10%</p><p> จุดน่าสนใจและคิดว่าเป็นจุดโดดเด่นของโฮมสุขภัณฑ์ ก็คือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อันดับ 1 เจ้าของบ้านหรือเอนด์ยูสเซอร์ มากถึง 71% รองลงมาลูกค้าโครงการ 18% รับเหมา-ช่าง 9% และลูกค้าสถาปนิกและอื่น ๆ 2% (รวมลูกค้าภาครัฐ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งให้เครดิตเทอม 30 วัน)</p><p> “ทุกสาขาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เราเน้นลูกค้า End User มีจุดเด่นเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมการซื้อเงินสด 80%”</p><p> ช็อปกระเบื้องแฟชั่น 399 บาท</p><p> คีย์ซักเซสอยู่ที่ฐานลูกค้าทั้ง 4 กลุ่ม มีมาร์จิ้นหรือกำไรไม่เท่ากัน แน่นอนว่าลูกค้าซื้อบิ๊กลอตอย่างลูกค้าโครงการ มาร์จิ้นจะบางหน่อย 3-10% เท่ากับลูกค้าเครดิต ถัดมาลูกค้ารับเหมาอยู่ที่ 5-10% ขณะที่ลูกค้าเอนด์ยูสเซอร์จีพี 2 หลัก 10-20%</p><p> จิ๊กซอว์ความสำเร็จอีกตัวมาจากกลยุทธ์การตั้งราคา Pricing Strategy เดินเข้าโชว์รูมโฮมสุขภัณฑ์จะเห็นป้ายราคากระเบื้อง 199, 299, 399 และ 499 บาท/ตารางเมตร “…ฐานลูกค้าแตกต่างกัน กลุ่มหอพัก เจ้าของบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านลงมา การเลือกจะดูที่เกณฑ์ 199-299 บาท จริง ๆ ต้องเริ่ม 99 บาทด้วยซ้ำ แต่ถ้าลูกค้าบ้านราคา 2 ล้านอัพจะเลือกซื้อราคา 199-499 บาท ที่โฮมสุขภัณฑ์สัดส่วนขายของเรา 70-80% ราคาไม่เกิน 399 บาท”</p><p> น่าสนใจว่าทำไมขายกระเบื้องราคาถูกได้</p><p> “กลยุทธ์การแข่งขันอยู่ที่การนำเข้า เรามีเวนเดอร์ผู้ผลิตในต่างประเทศ 100 โรงงานหลัก ในจีน อินเดีย ยุโรป เอเชีย ตอนนี้กระเบื้องอินเดียน่าสนใจมาก แข่งราคากับจีนได้ แต่เครื่องจักรใช้ของยุโรป มีการคิวซีทำให้ได้มาตรฐานสินค้ายุโรป นอกจากนี้ เราเลือกสินค้าเอง และ DC แวร์เฮาส์ขนาดใหญ่ที่เราสต๊อกสินค้าได้มาก จุดแข็งคือเรามั่นใจว่าเรามีกระเบื้องลายใหม่ ๆ ทุก ๆ เดือน ลูกค้าเดินช็อป 3 สโตร์ก่อนจะมาจบที่เราเป็นส่วนใหญ่”</p><p> ทั้งนี้ มีข้อมูลที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้ ว่าการผลิตกระเบื้องมีเป็นรอบ ๆ ผลิตครั้งเดียวต่อรอบ ใช้เวลาขายนานหน่อย หากสีหรือลวดลายหมดต้องรอรอบการผลิตใหม่ ทำให้โมเดิร์นเทรดที่เป็นคู่แข่งไม่ค่อยลงมาเล่นในตลาดกระเบื้อง และเป็นช่องว่างทางการตลาดที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้โฮมสุขภัณฑ์</p><p> คำถามสุดท้าย อยากให้ภาพจำของผู้บริโภคเป็นอย่างไร</p><p> “โฮมสุขภัณฑ์เป็นร้านกระเบื้องที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับห้องน้ำ เพราะเราขายกระเบื้องมากถึง 50% ของสินค้าในภาพรวม ดังนั้น ถ้าจะเลือกกระเบื้องต้องมาที่นี่ ภาพจำเราคือผู้นำด้านแฟชั่นกระเบื้องเซรามิก และผลิตภัณฑ์ห้องน้ำในภูมิภาค ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเราเป็นผู้นำแล้ว แต่ตลาดภูมิภาคคาดหวังว่าภายใน 5 ปี”</p><p style="font-size:13px;">15/11/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 พฤศจิกายน 2567 )</p>