MIT Sloan สถาบันดังระดับโลกเลือก “กรุงเทพฯ” เป็นสำนักงานนานาชาติแห่งที่ 2

<p></p><p>MIT Sloan School of Management ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ (ภาพจาก MIT Sloan)</p><p> เอ็มไอที สโลน (MIT Sloan) สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชื่อดังระดับโลกเลือก “กรุงเทพฯ” เป็นที่ตั้งสำนักงานประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นับเป็นสำนักงานนานาชาติแห่งที่ 2 ของสถาบัน เตรียมเปิดตุลาคมนี้ </p><p> วันที่ 3 สิงหาคม 2024 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอ็มไอที สโลน สคูลออฟแมเนจเมนต์ (MIT Sloan School of Management) สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชื่อดังอันดับต้น ๆ ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า กำลังจะเปิด สำนักงาน เอ็มไอที สโลน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations : MSAO) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้</p><p> ทั้งนี้ สำนักงานประจำอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ นับเป็นสำนักงานนานาชาติแห่งที่ 2 ของ เอ็มไอที สโลน หลังจากที่เลือกเปิดสำนักงานนานาชาติแห่งแรกที่ประเทศชิลี</p><p> เอ็มไอที สโลน กล่าวว่า MSAO จะสร้างโอกาสในการขยายขอบเขตทางการศึกษา จะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย บริษัท และองค์กรภาครัฐในท้องถิ่น การเชื่อมโยงเหล่านี้จะปูทางไปสู่การสัมมนา การบรรยาย และการประชุมประจำปีในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันมีโครงการวิจัยบางโครงการกำลังดำเนินการโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการขยายตัวของเมืองและความทานทนในการรับมือปัญหา ความท้าทายด้านน้ำและการเกษตร ตลอดจนความพร้อมใช้ของวัคซีนและการติดตามผล </p><p> จอร์เจีย เพราคิส (Georgia Perakis) รักษาการคณบดี จอห์น ซี เฮดที่ 3 (John C Head III) ของ เอ็มไอที สโลน กล่าวว่า การขยาย เอ็มไอที สโลน มายังภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างผลกระทบทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก </p><p> “MSAO ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสำหรับนักศึกษาปัจจุบันของเราเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้เราขยายขอบเขตการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่ประเด็นสำคัญ ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ การเป็นผู้ประกอบการ และการทำงานในอนาคตด้วย”</p><p> เอ็มไอที สโลน เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา มีนักศึกษามากกว่า 700 คนที่มีส่วนร่วมในโอกาสการเรียนเชิงประสบการณ์ผ่านโครงการการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการของ เอ็มไอที สโลน เกือบ 200 โครงการในหลักสูตรปฏิบัติการระดับบัณฑิตศึกษา 5 หลักสูตร ที่จัดขึ้นโดยบริษัท 96 บริษัท ในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งคณาจารย์และนักศึกษาจะรวมตัวกันในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ฟินเทค ความแก่ชราและเศรษฐกิจ และหัวข้ออื่น ๆ ผ่านโปรแกรมเหล่านี้ </p><p> เดวิด คาโปดิลูโป (David Capodilupo) ผู้ช่วยคณบดีหลักสูตรระดับสากล (Global Programs) ของ เอ็มไอที สโลน กล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับ เอ็มไอที สโลน ที่จะเปิดสำนักงานต่างประเทศแห่งที่ 2 หลังจากที่เปิดสำนักงานต่างประเทศแห่งแรกในเมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ซึ่งให้บริการทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกา </p><p> “เช่นเดียวกับสำนักงานในละตินอเมริกาของเรา เรากำลังรอคอยที่จะสร้างความร่วมมือกับผู้นำทางธุรกิจและผู้ประกอบการที่เป็นที่ยอมรับในภูมิภาค และมีส่วนร่วมกับเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรของ เอ็มไอที สโลน ในอาเซียน ที่กำลังเติบโตขึ้น” </p><p> ในข่าวที่ เอ็มไอที สโลน เผยแพร่อย่างเป็นทางการระบุว่า มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เป็นผู้บริจาคให้แก่ เอ็มไอที สโลน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ทำงานร่วมกับ เอ็มไอที สโลน ในอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2014, อินโดรามา เวนเจอร์ส, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง, เอสซีจี กรุ๊ป และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น </p><p> ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และศิษย์เก่า เอ็มไอที สโลน กล่าวว่า เอ็มไอที สโลน อยู่ในสถานะที่ไม่มีใครเหมือน ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในภูมิภาคนี้ผ่านคณาจารย์และหลักสูตรระดับโลก </p><p> “เราเห็นว่า MSAO เป็นช่องทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายโอกาสใหม่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบทั่วทั้งภูมิภาค” </p><p> ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กรุ๊ป กล่าวว่า เอ็มไอที สโลน กำลังดำเนินการวิจัยที่ล้ำหน้าเพื่อแก้ไขความท้าทายต่าง ๆ มากมายในทุกแง่มุมของความยั่งยืนในภูมิภาคนี้ และเอสซีจีตั้งตารอที่จะเห็นผลกระทบจากสำนักงาน เอ็มไอที สโลน แห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วภูมิภาค </p><p style="font-size:13px;">3/9/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 3 กันยายน 2567 )</p>