ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF ถมทะเลท่าเรือมาบตาพุดเร็วสุดในอีอีซี

<p></p><p>เป็นเวลา 5 ปี นับจากปี 2562 ที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเรือ F)</p><p> ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษา ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)</p><p> และยังมีในส่วนของงานออกแบบและก่อสร้างงานระบบ รวมถึงบริการเดินเครื่อง บำรุงรักษา และยังมีโครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้า และระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ</p><p> โครงสร้างพื้นฐาน Q1 โตพุ่ง</p><p> ล่าสุดในการรายงานผลประกอบการ GULF ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวม 32,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 1/2566 ซึ่งมีรายได้ 26,994 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 4,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไร 3,668 ล้านบาท ทำให้บริษัทคาดว่าการเติบโตของรายได้รวมปี 2567 ว่าจะโต 25-30% จากปีก่อน</p><p> โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทหลักมาจากธุรกิจไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 89.3% ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 2.7% ธุรกิจดาวเทียม 1.9% รายได้จากค่าบริหารจัดการ 0.5% และรายได้อื่น ๆ 2.1%</p><p> ขณะที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ตั้งไข่มา 5 ปีก็มีสัดส่วนถึง 3.5% เลยทีเดียว โดยภาพรวมของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF ได้บันทึก “รายได้ค่าก่อสร้าง” ไว้ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ระบุว่า รายได้ค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเล ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 1,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน</p><p> เติบโตขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งโครงการนี้มีกำหนดจะถมทะเลให้เสร็จในปี 2567 หลังจากกลุ่มบริษัทจะพัฒนาโครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ต่อไป</p><p> มาบตาพุดถมทะเลเร็วสุดในอีอีซี</p><p> ล่าสุด นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค GULF กล่าวว่า ความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ขณะนี้ได้มีการถมทะเลมีความคืบหน้าไปประมาณ 80% ซึ่งถือเป็นโครงการเดียวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีความคืบหน้ามากที่สุด</p><p> โครงการนี้จะมี 2 เฟส เมื่อถมทะเลแล้วเสร็จจะดำเนินการก่อสร้าง LNG Terminal ในลำดับต่อไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระหว่างการหารือระหว่างบริษัท และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะพิจารณาเริ่มต้นโครงการนี้เมื่อไร</p><p> ธนญ ตันติสุนทร</p><p> “ในส่วนของกรณีที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2024 ที่อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเป็น 50% จนอาจจะมีผลทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศในภาพรวมปรับลดลง จาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น เท่าที่มองตามความเข้าใจ ผมเห็นว่าจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทยก็ปรับลดลงตามลำดับเช่นกัน</p><p> ดังนั้นการลงทุนแท็งก์ เป็นไปเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่เข้ามาเสริมจากที่มีการประเมินว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สำหรับความสามารถในการบรรจุอัพทู 15-20 ล้านตันต่อปี ส่วนอีกโปรเจ็กต์เป็นคอนเทนเนอร์พอร์ต”</p><p> ทั้งนี้ การลงทุนเป็นการลงทุนตามแผนการลงทุน เพราะคาดว่าจะมีดีมานด์ก๊าซ LNG อยู่แล้วตาม PDP ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่อง LNG แต่ยังใช้สำหรับทำอย่างอื่นด้วยเช่นกัน โดยในส่วนนี้มีโรงไฟฟ้าสำหรับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ด้วย เพราะบริษัทถมที่ให้ กนอ. ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังอีกโครงการนั้น ซึ่งทางบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งมีกลุ่มกัลฟ์ กลุ่ม ปตท.ร่วมถือหุ้นดำเนินการนั้น ทางบริษัทไม่ได้เป็นผู้ถมเอง</p><p> อนึ่ง การลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เมื่อ 1 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว</p><p> โดยเป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) Net Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยให้เอกชนได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบนพื้นที่ 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง</p><p> โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ. โดยโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทย เพื่อเชื่อมไปสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน CLMVT</p><p> 3 โครงการลุ้นปี’68</p><p> นายธนญกล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะมีการเปิดทดลองใช้เป็นช่วง ๆ แต่บางช่วงยังมีปัญหาความล่าช้าอยู่ ซึ่งเป็นผลจากในส่วนของกรมทางหลวงกับผู้รับเหมา และขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่บางจุดมีปัญหาเรื่องพื้นที่ป่า ลุ่มน้ำ ทำให้เกิดความล่าช้า</p><p> “ทางบริษัทต้องรอการดำเนินการในส่วนของเขาก่อน ทางเรารับบริหารพื้นที่ ซึ่งในส่วนของรายได้อาจจะล่าช้าบ้าง แต่ไม่ได้เป็นโครงการขนาดใหญ่มากนัก ประกอบกับเป็นเพียงผู้ให้บริการบริหารพื้นที่ไม่ได้รับความเสี่ยง”</p><p> อนึ่ง เส้นทางสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ความยาว 196 กม. ที่กรมทางหลวงได้ลงนามในสัญญากับ BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS)-กัลฟ์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON)-บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) วงเงินโครงการ 21,329 ล้านบาท</p><p> และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ความยาว 96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท ซึ่งเริ่มทดลองเปิดใช้ตั้งแต่เมื่อ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นการชั่วคราว ช่วงนครปฐมตะวันตก-กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. ทุกสุดสัปดาห์ เฉพาะวันศุกร์ตั้งแต่ 15.00 น.-วันอาทิตย์เวลา 21.00 น. โดยคาดว่าโครงการทั้งสองเส้นนี้จะเสร็จภายในปี 2568</p><p> เช่นเดียวกับโครงการใหม่ล่าสุด การสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในส่วนของธุรกิจดิจิทัล ที่ระบุตามรายงานผลประกอบการว่าโครงการมีความคืบหน้าไปกว่า 12.9% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 เช่นกัน</p><p> One Bangkok ฉลุยปี’67</p><p> สุดท้าย คือ โครงการลงทุนระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ และระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ กำลังการผลิต 36,000 ตันความเย็น ในโครงการ “One Bangkok” ซึ่งขณะนี้ทั้งสองส่วนมีความคืบหน้าไปเกินกว่า 90% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้</p><p style="font-size:13px;">13/6/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 มิถุนายน 2567 )</p>