ทุนรับเหมาภูเก็ต CPH ผุดคอนโด “เลค อเวนิวฯ” ย่านเชิงทะเล เฉลี่ย ตรม.ละ 1.4 แสน

<p></p><p>กลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้างเมืองภูเก็ต ลุยธุรกิจพัฒนาที่ดิน ตั้งบริษัทโรยัล ซีพีเอช ดีเวลล็อปเม้นท์ ทุนจดทะเบียน 154 ล้านบาท เปิดตัวคอนโดฯ แบรนด์แรก “เลค อเวนิว ภูเก็ต-Lake Avenue Phuket” ย่านเชิงทะเลบนที่ดิน 5 ไร่ สูง 7 ชั้น 2 อาคาร 206 ยูนิต ราคาขายเฉลี่ย 141,000 บาท/ตารางเมตร เปิดพรีเซล ส.ค.67 นี้</p><p> วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นางสาวสุกัญญา ตาเกอูจิ ผู้บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท โรยัล ซีพีเอช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ CPH เปิดเผยว่า บริษัทฟื้นแผนลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียม จากเดิมที่วางแผนจะเปิดตัวในช่วงยุคก่อนโควิด ล่าสุด เตรียมเปิดพรีเซลโครงการ “เลค อเวนิว ภูเก็ต” มูลค่าโครงการ 1,940 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้</p><p> รายละเอียด เลค อเวนิว ภูเก็ต ตั้งอยู่บนที่ดิน 5 ไร่ 40 ตารางวา ในซอยเชิงทะเล 3 ห่างจากถนนใหญ่ศรีสุนทรไม่เกิน 200 เมตร โอบล้อมด้วยทะเลสาบขนาดใหญ่ 2 ฝั่ง ออกแบบเป็นอาคารสูง 7 ชั้น 2 อาคาร จำนวน 206 ยูนิต โดยห้องพักอาศัยจะเริ่มตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 7</p><p> โครงการมีห้องชุดให้เลือกแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 34 ตารางเมตร, ห้องชุด 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 48 – 61ตารางเมตร, ห้องชุด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 67-70 ตารางเมตร และห้องชุด 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 92 – 142 ตารางเมตร</p><p> ไฮไลต์มีห้องชุดเพนต์เฮาส์ 2 เวอร์ชัน ได้แก่ ห้องชุดจูเนียร์ เพนต์เฮาส์ พื้นที่ใช้สอย 118 ตารางเมตร ฟังก์ชัน 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ กับเพนต์เฮาส์ฟังก์ชัน 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 174 – 180 ตารางเมตร ตกแต่งแบบ Fully Fitted มีชุดครัว เครื่องปรับอากาศ ตู้เสื้อผ้า อุปกรณ์ในห้องน้ำ</p><p> “ที่ตั้งโครงการในอดีตเคยเป็นเหมืองแร่เก่า จึงได้รับแรงบันดาลใจออกแบบโครงการมี Facade ให้เป็นสีทองแดง เทา และดำ สระว่ายน้ำดีไซน์เป็น Layer คล้ายกับเหมืองที่ขุดลึกลงไปในดิน โดยเลือกใช้พันธมิตรธุรกิจจากกรุงเทพฯ เช่น บริษัทเมคอะซีน รับผิดชอบงานออกแบบ, บริษัทแลนด์สเคปเทคโทนิคส์ รับงานแลนด์สเคป และบริษัทแกลอเรีย รับผิดชอบงานตกแต่งภายใน”</p><p> ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ซื้อห้องชุดในภูเก็ต พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการห้องชุดแบบ 2 ห้องนอน ราคาไม่เกิน 8 ล้านบาท รองรับกลุ่มครอบครัวที่ซื้อเก็บไว้เป็นบ้านหลังที่ 2</p><p> ทำให้ โครงการเลค อเวนิว ภูเก็ต เน้นห้องชุด 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 48 ตารางเมตร มีสัดส่วนมากที่สุด 54% ราคาขาย 7-8 ล้านบาท เฉลี่ย 141,000 บาท/ตารางเมตร กับห้องชุด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 70 ตารางเมตร มีจำนวน 38 ยูนิต ราคาขายเฉลี่ย 10 ล้านบาท</p><p> ขณะที่ห้องชุด 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 34 ตารางเมตร มีจำนวนจำกัด 11 ยูนิตเท่านั้น เพราะมีซัพพลายห้องชุด 1 ห้องนอนเหลือขายอยู่ในตลาดภูเก็ตค่อนข้างมาก</p><p> สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง มีพื้นที่ขนาด 1 ไร่ แบ่งเป็นคลับเฮาส์ 1 ชั้น แบบยกพื้นสูงพร้อมฟิตเนส และ Co-working Space สระว่ายน้ำ 2 โซน สวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีทั้งสวนธรรมชาติและสวนหิน ที่จอดรถ 113 คัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจำนวนห้องชุด อยู่ชั้นใต้ดินและชั้น 1</p><p> สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ มาพร้อมการติดตั้ง EV Charger ร้านอาหาร และพื้นที่โซน Pet Friendly สำหรับสุนัขและแมวที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม ระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ระบบเข้า-ออกโครงการด้วยการระบุตัวตนทั้งสแกนหน้าและคีย์การ์ด</p><p> ปัจจุบัน เลค อเวนิว ภูเก็ต ได้ผ่านการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เรียบร้อยแล้ว มีการเปิดไซต์ก่อสร้างในส่วนของการลงเข็มและฐานรากแล้ว มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ช่วงปลายปี 2569</p><p> ในด้านแผนการขายวางแผนจัดอีเวนต์เปิดพรีเซลในเดือนสิงหาคมนี้ โดยไซต์ก่อสร้างอยู่ในซอยเชิงทะเล 3 แต่สำนักงานขายตั้งอยู่ซอยเชิงทะเล 1 คาดว่าลูกค้าต่างชาติจะเต็มโควต้าซื้อ 49% มีทั้งลูกค้ายุโรป รัสเซีย อเมริกาเหนือ ส่วนลูกค้าคนไทยมีทั้งลูกค้าเรียลดีมานด์ซื้ออยู่เอง ซื้อลงทุน กับลูกค้าคนที่ทำงานป้อนภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ต</p><p> นางสาวสุกัญญา กล่าวว่า ภาวะการแข่งขันของตลาดคอนโดฯ ในเก็ตค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ตั้ง เลค อเวนิวฯ มีคู่แข่งันจากบิ๊กแบรนด์อสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพฯ เปิด 3 – 4 โครงการ</p><p> ประกอบด้วย โครงการ เดอะไทเทิล เลเจนดารี บางเทา ของ บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในเครือแอสเซทไวส์ หรือ ASW, โครงการโซ ออริจิ้น บางเทา บีช ของกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และโครงการเดอะ สแตนดาร์ด เรสซิเดนซ์ ภูเก็ต บางเทา ซึ่งลงทุนผ่านกองทุน CG Capital ของตระกูลจิราธิวัฒน์</p><p> “ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นทำเลเรดโอเชียน แต่เลค อเวนิว ภูเก็ต มีความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง 15 – 20% เพราะมีต้นทุนที่ดินที่ถูกกว่า ทำเลแวดล้อมด้วย 2 ทะเลสาบอยู่ด้านข้างโครงการ ถือเป็นจุดขายที่เป็นโครงการแรกของภูเก็ตที่มีทำเลศักยภาพสูงแบบนี้”</p><p> นอกจากนี้ จุดแข็งยังรวมถึง CPH มีกลุ่มผู้บริหารโครงการที่เป็นคนในพื้นที่ภูเก็ต และทำธุรกิจมากว่า 20 ปี ทำให้มีความเข้าใจพื้นที่และความต้องการของกลุ่มคนซื้อในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี CFO ของ CPH กล่าวตอนท้ายถึงแผนการลงทุนของบริษัทในอนาคตว่า มีโปรเจ็กต์เตรียมพัฒนาในรูปแบบพูลวิลล่า ราคา 16 ล้านบาทบวกลบ บนแลนด์แบงก์ในโซนเชิงทะเล ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการจัดซื้อที่ดิน ถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่าจะสามารถเปิดตัวโครงการได้ในปี 2569</p><p> สำหรับกลุ่ม CPH ก่อตั้งในปี 2557 ดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายในจังหวัดภูเก็ต มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 2 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 154 ล้านบาท</p><p> มีผู้ถือหุ้นหลัก 5 คน ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นคนไทยและต่างชาติ ที่มีประสบการณ์อสังหาริมทรัพย์ 20 ปี ทั้งด้านรับเหมาก่อสร้าง ไฟแนนเชียล และอินทีเรียร์</p><p> โดยมีนายฮิว จอห์น บัทเลอร์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมด้วยผู้บริหาร คือ นายธนนนท์ วงศ์สวัสดิ์, นางสาวฬุรยา แสงกระจ่าง, นางสาวณฤดี ศิริมณี และนางสาว สุกัญญา ตาเกอูจิ</p><p> จุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างร่วมกันในนามบริษัท เอเอสแอล เมเนจเม้นท์ คอนแทรคติ้ง จำกัด ตั้งแต่ปี 2546 รับเหมาสร้างคอนโดมิเนียม โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ</p><p> และในนาม บริษัท อธีนา สยาม จำกัด ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, สถาปัตยกรรม และธุรกิจที่ปรึกษางานก่อสร้างอาคารสูง และงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง ทำให้มองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะต่อยอดขยายการลงทุนเข้ามาสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต</p><p> ดังนั้น การแตกไลน์เข้าสู่บทบาทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือดีเวลอปเปอร์แบบเต็มตัว เกิดขึ้นจากความสนใจลงทุนเชิงลึก มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่อง ลงลึกทุกรายละเอียด</p><p> ที่สำคัญ CPH มีการทยอยซื้อแลนด์แบงก์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเก็บสะสมไว้จำนวนหนึ่ง โดยหนึ่งในจุดโฟกัสเป็นที่ดินในย่านเชิงทะเล ซึ่งเป็นทำเลยอดนิยมของภูเก็ตในปัจจุบัน จึงมั่นใจว่าการเปิดขายโครงการในเครือ CPH จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งจากนักลงทุน และกลุ่มผู้ซื้อคนไทยและต่างชาติ</p><p style="font-size:13px;">10/7/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 10 กรกฎาคม 2567 )</p>