การกลับมาอีกครั้งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

<p></p><p>หลังจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ อายุกว่า 50 ปี ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ และประเทศไทย ‘ปิดตัว’ ไปตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 โดยได้ทุบอาคารโรงแรมเดิม และแจ้งเกิดใหม่เป็นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส Dusit Central Park</p><p> และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โฉมใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ของ ‘ดุสิตธานี’ เรียกว่าใช้เวลารอคอยกว่า 5 ปี</p><p> ศุภจี สุธรรมพันธุ์</p><p> จากการทำงานร่วมกันของสองบริษัทสถาปนิกชั้นนำ ได้แก่ บริษัทสถาปนิก 49 (A49) และ OMA Asia Hong Kong Limited ที่โด่งดังในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ทำให้ตัวโครงสร้างอาคารของโรงแรมดุสิตธานี เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นสะดุดตา และการจัดการวางผังพื้นที่ต่าง ๆ ก็มีการเชื่อมโยงอย่างลงตัว</p><p> วันนี้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้เห็นอาคารสีทองสูง 39 ชั้น (เดิม 22 ชั้น) พร้อมด้วย ‘ยอดเสาสีทอง’ (Golden Spire) เอกลักษณ์ของดุสิตธานี สัญลักษณ์แห่งความทรงจำ กลับมายื่นตระหง่านอยู่ตรงหัวถนนสีลมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง</p><p> รวมทั้งยังคงเก็บรักษาความเป็นดุสิตธานีให้ปรากฏในส่วนต่าง ๆ ของโรงแรม รวมถึง ‘เสาเบญจรงค์’ เสาเอกขนาดใหญ่ 2 ต้น ที่มีนํ้าหนักรวมกว่า 10 ตัน ถูกวาดลวดลายจิตรกรรมไทยไว้อย่างประณีต เป็นอีกสิ่งสำคัญที่อยู่คู่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ มานาน 50 กว่าปี นับเป็นผลงานศิลปะที่ดำรงไว้เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองดุสิตธานี โดยได้ถูกนำกลับมาเป็นอัตลักษณ์เพื่อเชื่อมรอยต่อของประวัติศาสตร์ ของดุสิตธานี</p><p> นับเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี</p><p> สำหรับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ประกอบด้วย ห้องพักสุดหรู ตั้งแต่ห้องดีลักซ์ จนถึงห้องสวีต รวมจำนวน 257 ห้อง โดยทุกห้องสะท้อนความเรียบหรู พร้อมเปิดรับวิวพาโนรามาของสวนลุมพินีอย่างเต็มที่ รวมถึงรูฟท็อปบาร์และสกายล็อบบี้ที่จะได้สัมผัสวิวเมืองแบบเต็มตา</p><p> อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังเป็นการ Soft Opening พร้อมกับการทยอยเปิดให้บริการห้องพัก “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี ระบุว่าในช่วงแรกมีห้องพักพร้อมให้บริการ 70 ห้อง และจะทยอยเปิดเพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน</p><p> รวมถึงการฟื้นตำนานห้องนภาลัย บอลรูม จากเมื่อปี 2513 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เคยสร้างปรากฏการณ์ให้กับคนในยุคนั้น ด้วยการมีห้องนภาลัย บอลรูมจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ที่สุดและหรูหราที่สุดในกรุงเทพฯ</p><p> การกลับมาครั้งนี้ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ยังคงเอกลักษณ์ดังกล่าวไว้ คือ มีพื้นที่จัดเลี้ยงหรือจัดประชุมรวมกันแล้วขนาดใหญ่กว่า 5,000 ตารางเมตร และหนึ่งในนั้นคือ ห้องแกรนด์บอลรูมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ สามารถรองรับการจัดเลี้ยงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบส่วนตัวใกล้ชิด ไปจนถึงงานเลี้ยงขนาดใหญ่</p><p> โรงแรมดุสิตธานี เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส Dusit Central Park แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ มูลค่า 46,000 ล้านบาท ภายใต้การร่วมทุนของ “ดุสิตธานี” และ “เซ็นทรัลพัฒนา” บนพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ที่ประกอบด้วย โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า</p><p> โดยมี ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของโครงการนี้ ที่ทำงานร่วมกับ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ ทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี สร้างตำนานบทใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ กลับมายื่นเด่น เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ด้วยรูปโฉมใหม่ที่ยังคงรักษาเสน่ห์ความเป็นไทย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกครั้ง</p><p style="font-size:13px;">3/10/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 3 ตุลาคม 2567 )</p>