“สุริยะ” ลงนามเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอบนโยบายให้ รฟม.-BEM

<p></p><p>“สุริยะ” ลงนามเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอบนโยบายให้ รฟม.-BEM เร่งรัดดำเนินงาน เพื่อส่งมอบการเดินทางที่สะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว</p><p> เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง)</p><p> นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ รฟม. นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 9 อาคาร 1 รฟม.</p><p> นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการต่อขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางที่มากขึ้น</p><p> ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน จะผนึกกำลังร่วมกันอย่างเต็มที่</p><p> โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ให้แล้วเสร็จได้เร็วกว่าที่แผนงานกำหนด พร้อมรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของพี่น้องประชาชนได้โดยสะดวก พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ รฟม. กำกับควบคุมงานก่อสร้างด้วยความเอาใจใส่ ต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด และต้องดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์</p><p> นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบการเดินทางที่เชื่อมโยงครอบคลุมและสะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินงานคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จนแล้วเสร็จ</p><p> และคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกดังกล่าว โดยมี BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยหลังจากนี้ รฟม. จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง ทั้งนี้ ในเบื้องต้น รฟม. มีแผนที่จะเร่งรัดเปิดให้บริการทั้งส่วนตะวันออก ได้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2571 และส่วนตะวันตก ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2573</p><p> ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEM มีความพร้อมในการดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาทันที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกนั้น คาดว่าจะสามารถเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดขบวนรถมาให้บริการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ และในส่วนตะวันตก BEM มีจุดแข็งคือพันธมิตรอย่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานโยธาและการจัดหาระบบไฟฟ้า มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างจะไม่มีปัญหาอุปสรรค และจะเปิดให้บริการได้ภายใน 6 ปี</p><p> สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร โดยส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)</p><p> ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0-2716-4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”</p><p style="font-size:13px;">18/7/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 กรกฎาคม 2567 )</p>