ปั้น “PCB” เรือธงเศรษฐกิจไทย แห่ลงทุน 2 แสนล้านจ้างแสนคน

<p></p><p>บิ๊กเนมภาครัฐ-เอกชน ร่วมขึ้นเวทีสัมมนา “ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” จัดโดยเครือมติชน และ กมธ.อว. ประธานและประธานที่ปรึกษากมธ.อว. พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรม PCB ไทยผงาดติดอันดับโลก ชี้เป็นเรือธงใหม่ด้านเศรษฐกิจ กสทช.ชี้ไทยพร้อมทุกด้านและได้เปรียบเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย บีโอไอเผยตัวเลขลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้าน อนาคตเพิ่มขึ้นอีก คาดสร้างงานไม่ต่ำกว่าแสนตำแหน่ง</p><p> เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เครือมติชนร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) จัดสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ณ ห้องอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ</p><p> นายวรศักดิ์ ประยูรศุข รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชน และบรรณาธิการ กอง บก.ประชาชาติธุรกิจ, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชน และบรรณาธิการ กอง บก.ข่าวสด, นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กอง บก.มติชน, นายจรัญ พงษ์จีน ที่ปรึกษา บมจ.มติชน ฯลฯ ร่วมต้อนรับวิทยากรจากาครัฐและเอกชน</p><p> นำโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ</p><p> PCB นำไทยสู่โลกดิจิทัล</p><p> นายฐากรปาฐกถาพิเศษว่า PCB (Printed Circuit Board) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกระดูกสันหลังในการเชื่อมต่อวงจรของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์สื่อสาร ระบบสารสนเทศแห่งอนาคต คอมพิวเตอร์ AI Server และยานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทย โดยแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออก PCB ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดโลกที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท 4%</p><p> “กมธ.อว. มีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มทักษะการทำงาน และส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ ‘วิจัยนำ นวัตกรรมตาม’ ซึ่ง PCB เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะพาไทยก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้”</p><p> ขยายตัวเพิ่มอีก 5.3 แสนล้าน</p><p> การผลักดันอุตสาหกรรม PCB ของไทยให้เติบโตตามภาพรวมของตลาดโลก ที่มีโอกาสขยายตัวอีก 5.3 แสนล้านบาท ในปี 2569 ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหารือร่วมกันว่าจะทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างไร</p><p> “หากไทยนำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อีก 50 โรงงาน เชื่อว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาด PCB โลก จะโตเป็น 10-15% เป็นที่ 4 รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งการจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. BOI และ EEC”</p><p> “การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB เพื่อพาไทยผ่านพ้นพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า และเปลี่ยน PCB จากเศรษฐกิจแสนล้านเป็นหลายแสนล้านบาท”</p><p> มอง PCB อุตฯเรือธงใหม่</p><p> นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นมาก ก่อนหน้าไม่ถึง 3 หมื่นล้าน แต่เมื่อปี 2566 พุ่งทะลุแสนล้าน</p><p> อุตสาหกรรม PCB อาจเป็นเรือธงของประเทศไทยในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจระดับแสนล้าน มีความน่าสนใจที่เราต้องช่วงชิง แต่เราจะช่วงชิงอย่างไรในสถานการณ์นี้ เพราะส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ประเทศไทยอยู่ลำดับ 5-6 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3-4% จึงมองว่าไทยมีโอกาสขึ้นอันดับ 3 ได้ แต่ต้องใช้ในความได้เปรียบเรื่องจีโอโพลิติก หรือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ</p><p> ปธ.กสทช.ชี้ PCB สำคัญมาก</p><p> ศ.คลินิก นพ.สรณกล่าวว่า PCB เป็นเหมือน ซีแนปส์ หรือจุดรวมประสาท อยู่ในทุกอย่างไม่ว่าเราเตอร์ไวไฟที่เราใช้ที่บ้าน เสา 5G ทั้งหมด นับรวมไปถึงตัวรับส่งสัญญาณไปถึง 30,000 กิโลบนอวกาศ ซึ่งโครงข่ายเหล่านี้ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ นาฬิกา ทุกอย่างที่เราใช้ หรือแวร์เอเบิลดีไวซ์ ที่เราใช้ดูแลสุขภาพของเรา PCB ล้วนเป็นพื้นฐานการพัฒนา</p><p> ความท้าทายในการทำ PCB คือเรื่องฮาร์ดแวร์ ในขณะที่คนในบ้านเรา เยาวชนหรือว่าคนรุ่นใหม่ จะเก่งทำซอฟต์แวร์ แต่ต้องเน้นย้ำว่าเรื่องของฮาร์ดแวร์มาก่อนซอฟต์แวร์ ถ้าแรงงานของเราทำฮาร์ดแวร์เก่ง ซอฟต์แวร์ก็ตามมาเอง</p><p> ไทยมีความพร้อมทุกด้าน</p><p> ถามว่าทำไมต้องเป็นประเทศไทย เรื่องแรกคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งทั้งคู่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เรา ถ้าเราสามารถที่จะทำสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าจะย้ายฐานการผลิตมาที่เราก็ดี เพราะว่าเรามีแรงงานมีทักษะ เรามีค่าจ้างแรงงานที่ดี เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี</p><p> เรามีการส่งเสริมใน EEC การส่งเสริมผ่านสิทธิประโยชน์การลงทุน แล้วเรามีนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำความสำคัญ ทั้งเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลเน้นย้ำในการแถลงนโยบาย เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญ ที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ให้ก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้น</p><p> กสทช.หวังขึ้นผู้นำการผลิต</p><p> โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ทาง กสทช.มีการส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านโทรคมนาคม ซึ่งงานสำคัญอันหนึ่งคือการสร้างอุตสาหกรรม PCB ให้เป็นจุดแข็งของประเทศ มีเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)</p><p> เราสามารถส่งเสริม และสนับสนุนในการพัฒนา PCB ให้เป็นไปได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเราจะได้เป็นประเทศชั้นนำในการผลิตในภาคอาเซียนต่อไป</p><p> บีโอไอหนุนครบวงจร</p><p> นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า กระแสการลงทุนมีความร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2566 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 50 โครงการ ทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดจากอุตสาหกรรม PCB เพิ่มขึ้น 10-15% จึงนับว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญมาก</p><p> “ปัจจุบันตัวเลขยื่นขอรับบีโอไอจาก PCB เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 8 เดือนเข้ามาขอบีโอไอกว่า 70 โครงการ คาดปี 2567 นี้ ทั้งอุตสาหกรรม PCB อาจจะมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท และจะเห็นการทยอยเข้ามาลงทุนของซัพพลายเชนเพิ่มเติม ด้วยบางซัพพลายเชนไทยยังไม่มีและยังไม่สามารถผลิตได้ จึงจำเป็นที่ต้องส่งเสริมการลงทุนในส่วนนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน จากนั้นในชอตต่อไป เราจะเห็นการขยายการลงทุนมากขึ้น และในที่สุดไทยจะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบ”</p><p> ลงทุน 2 แสน ล.-จ้างแสนคน</p><p> ใน 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) ที่ขอรับบีโอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรนิกส์ จะเห็นว่าเป็น PCB มีมูลค่า 50,000 ล้านบาท และหากดูช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2561-2567) พบว่ามีมูลค่าการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท และแน่นอนว่าเมื่อมีการตั้งโรงงานเต็มรูปแบบเฟสแรก จะมีการจ้างงานถึง 20,000 คน และในอนาคตจะสูงสุดถึง 100,000 คน</p><p> มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 100,000 ล้านบาท/ปี และสามารถส่งออกได้สูงถึง 700,000 ล้านบาท/ปี ทำให้ไทยอยู่อันดับ 1 ของอาเซียน และจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Top 5 ของโลก ซึ่งขณะนี้เบอร์ต้น ๆ ของโลก คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และอีกไม่ช้าไทยจะเข้าไปอยู่ใน Map ของโลก</p><p> เต่าบินย้ำไทยต้องได้ประโยชน์</p><p> นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้เต่าบิน กล่าวว่า การดึงต่างชาติมาลงทุนในไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องจับตาใน 3 ด้านหลัก ๆ ทั้งการจัดการของเสีย เนื่องจากอุตสาหกรรม PCB ใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้องมีข้อกำหนดมาควบคุมและบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ</p><p> อีกด้านคือประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ทั้งด้านการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบในประเทศ หลังภาคอุตสาหกรรมจีนพัฒนาไปมากจนสามารถลดต้นทุนได้ดี จึงเสี่ยงที่ซัพพลายเออร์ไทยอาจไม่สามารถสู้ราคาได้ เช่นเดียวกับการใช้หุ่นยนต์ในไลน์ผลิต ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการจ้างแรงงานมากนัก</p><p> นอกจากนี้ยังต้องระวังการถูกลูกหลงจากสงครามการค้า เพราะการให้ประเทศคู่ขัดแย้งมาตั้งฐานการผลิตและส่งออก หากไม่มีข้อกำหนดที่รัดกุมของสถานะสินค้าผลิตในไทย อาจทำให้สินค้าเมดอินไทยแลนด์อื่น ๆ ตกเป็นเป้าของการกีดกันทางการค้าไปด้วย</p><p> มะกันสกัดอีวีจีน-โอกาสไทย</p><p> นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ส่วนใหญ่ใช้ PCB หมดแล้ว ทุกระบบมีสมองกลควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ รถน้ำมันมีเหมือนกัน เเต่ที่ผ่านมาจะมีกล่องอีซียู</p><p> นอกจากนี้ รถอีวีจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาจีโอโพลิติก ทำให้จีนส่งออกรถอีวีลำบาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะจีนคงไม่หยุดผลิต ทำอย่างไรจะให้ไทยหล่อที่สุด ส้มมาหล่นในไทยมากสุด</p><p> “รถอีวีเป็น PCB ทั้งคัน จะต้องทำในประเทศ ผลิตในประเทศ เชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากรถน้ำมันไปเป็นรถอีวี ซัพพลายเชนเสียหายบ้างแต่ไม่เยอะ เพราะหลาย ๆ ส่วนยังต้องใช้เหมือนเดิม เช่น ช่วงล่าง กระจก เบาะ ยังเหมือนเดิม เพราะไทยไม่ได้ผลิตเครื่องยนต์ ดังนั้น ผมว่าไม่ได้เดือดร้อนมากนัก ทำอย่างไรจะทำให้การผลิตรถอีวีสัญชาติจีนให้เป็นสัญชาติไทยมากขึ้น”</p><p> EEC ลุ้น ครม.ไฟเขียวประกาศสิทธิประโยชน์ดึงดูดลงทุน รับอุตฯ PCB เต็มที่</p><p> EEC รอลุ้น ครม.ไฟเขียวสิทธิประโยชน์ดึงดูดอุตสาหกรรม PCB มั่นใจ ปี 2567 ขายที่ดินทุบสถิติปี ชี้หากลงทุนตลอดห่วงโซ่ Supply Chain จะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น</p><p> วันที่ 17 กันยายน 2567 นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวระหว่างงานเสวนา ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน จัดโดย เครือมติชน ว่า EEC ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กำลังจะสร้างรถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุต ยังเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความคืบหน้าพอสมควร</p><p> อุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Print Circuit Board : PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายงานของเรา จะต้องเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย</p><p> สำหรับสิทธิประโยชน์ของในพื้นที่ EEC ก็มีลักษณะ Costom Mead โดยเราจะพิจารณาอยู่ 4 เหตุปัจจัยหลัก คือ ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยแยกออกมา 13 แบบ เหมือนกับ “เราช่วยกาชาดกาชาดช่วยเรา” เอาทั้ง 13 เรื่องนี้มาตัดเป็นคะแนนว่าให้ประโยชน์กับประเทศไทยเท่าไร หากใครให้มากก็จะได้สิทธิประโยชน์กลับไปมาก</p><p> “ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB เราจะพิจารณาจากเงื่อนไขเรื่อง การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยี แผนการพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ โดย นักลงทุนที่เข้ามาเจรจา จะนำเงินลงทุนมาใช้เท่าไร จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศเท่าไร โดยปกติเราส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติเข้ามาโดยไม่มีโควตา แต่มีเงื่อนไขจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างไร ทุกการลงทุนในห่วงโซ่จะต้อง Contributed กลับมาที่ประเทศไทยเท่าไหร่ นี่คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นความแตกต่างจากการลงทุนผ่านช่องทางอื่น ไทยมีกองหน้าที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนอยู่ คือ BOI กนอ. และ</p><p> EEC ที่จะมาทำเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในยุคใหม่ เพราะว่าเรายังอยู่ตรงปลาย ไม่ได้อยู่ต้นน้ำที่เป็นผู้ออกแบบที่สร้างกำไรสูงสุด เรายังไม่มีวัตถุดิบ ซิลิกอน ทองแดงไม่มีเยอะ เราจึงต้องรับจ้างผลิตก่อน แต่รายได้จากการลงทุนยังไม่เยอะ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับความคิดใหม่ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ล่าสุดมีนักลงทุนสนใจเข้ามาเจรจากับทางอีอีซี 110 ราย มีเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยระบบแบบนี้ นักลงทุนเห็นว่าหากให้เรามากก็จะได้กลับมากกว่า”</p><p> “จุดแข็ง EEC ถูกออกแบบมาครบจบอยู่ในที่เดียว เรามีที่ดิน มีสิทธิประโยชน์ รอเพียงคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบจะมีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ ที่จะไปคุยกับนักลงทุนได้ ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะดึงดูดการลงทุน ซึ่ง PCB ก็เป็นหนึ่งในนั้น เรามีการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น เรื่องของที่ดิน และเรื่องแรงงาน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ 50% ในการฝึกอบรมให้กับแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งที่มีเครือข่ายโลจิสติกส์ครบ และดิจิทัล ซึ่งกฎหมายอีอีซีเรามีลักษณะพิเศษที่สามารถออกกฎหมายย่อย และสามารถไปเป็นตัวทางลัด ที่ให้กับงานอื่น ๆ ที่เคยมีความล่าช้าได้”</p><p> ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเขตส่งเสริม 3 รูปแบบ คือ อยู่ในนิคม ภาครัฐเป็นคนนำ และแบบที่ตั้งกันเองโดยไม่ได้อยู่ในนิคม ซึ่งปัจจุบันมีดีมานด์เข้ามา 50 แห่ง มาขอตั้งเป็นเขตส่งเสริมจากรัฐ</p><p> นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนยังให้ความสนใจเรื่องระบบการขนส่งภายในพื้นที่ EEC ความคืบหน้าการก่อสร้าง สนามบิน และท่าเรือ 2 แห่งแหลมฉบังและมาบตาพุด ยังเป็นไปตามกำหนดเวลา ในเรื่องนี้มีความคืบหน้าพอสมควร</p><p> นายก่อกิจกล่าวอีกว่า ตอนนี้จากปัญหาเทรดวอร์และเทควอร์ที่เกิดขึ้น ก็มีโอกาสในนั้นเช่นกัน โดยผู้นำการลงทุน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้</p><p> กรณีศึกษา ไต้หวันและเกาหลีใต้ มีต้นน้ำอยู่กับเขา มีการออกแบบเอง วัตถุดิบ และเป็นผู้นำของเรื่องนี้ ยังมีบทเรียนที่เราจะไปศึกษา โดยหากสังเกตจะเห็นว่าเกาหลีใต้ไม่มาประเทศไทย โดยไปเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยจะได้นักลงทุนจากจีน และไต้หวัน จากนี้ไปจะมีโอกาสอีกเยอะ ด้วยเรามีความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานกำลังจะเสร็จ จะสามารถทำให้การขนส่งดีขึ้น</p><p> การเดินทาง เช่น ถ้าเราเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบัง ขึ้นทางด่วน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง การขนส่งเราเร็วขึ้น จากนี้หากเราจะไปต่อโดยบริบทภายใต้กฎหมาย EEC จะลดข้อจำกัดต่าง ๆ ได้เยอะ เพราะว่าการจัดทำกฎหมายที่ออกมา เป็นการเปิดรับฟังจากนักลงทุน เพื่อลดปัญหาอุปสรรคการลงทุนที่จะเกิดขึ้น และกฎหมายพิจารณาการลงทุนส่วนใหญ่ให้อำนาจ อีอีซี เป็นผู้พิจารณา ตอนนี้มีกฎหมายครอบคลุม พ.ร.บ. 8 ฉบับ 40 ใบอนุญาต ที่อยู่ภายใต้การดูแลของอีอีซี ส่งผลให้เรามีความพร้อมในเชิงกฎหมาย ส่งผลให้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น</p><p> อีกทั้งเรายังออกไปเชิญชวน ดึงนักลงทุนเช่นกัน เพื่อสื่อสารถึงความแตกต่างระหว่าง บีโอไอ การนิคม EEC คือ สิทธิประโยชน์ที่มีความยืดหยุ่น ที่จะตอบโจทย์นักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม PCB ตลอดห่วงโซ่การผลิต ถ้าสามารถนำมาลงทุนทั้งหมดทั้งแวลูเชนจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่า หากจะมาเพียงแค่เฉพาะบางสายการผลิตเท่านั้น</p><p> นอกจากนี้ เรายังมีแนวทางที่จะดึงดูดนักลงทุนในหมวดการศึกษาด้วย เพราะใน 12 อุตสาหกรรม มีเรื่องของการบริการ รวมไปถึงโรงเรียนแม้ปัจจุบันโรงเรียนจะไม่เสียภาษี แต่ในพื้นที่ EEC จุดเด่นคือ สามารถให้ EEC Visa และ Work Permit ในใบเดียวกันได้ สามารถเข้ามาและเริ่มทำงานได้ทันที ซึ่งเตรียมไว้ในอนาคต เมื่อ EEC ได้ประกาศแพ็กเกจสิทธิประโยชน์เรียบร้อย จะทำให้มีความยืดหยุ่นของเรื่องของกฎระเบียบ และสามารถปรับเปลี่ยนกฎระเบียบได้อีกมาก เป็นจุดแข็งของเรา และมั่นใจจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจำนวนมาก</p><p> “แน่นอนพวกผมกินกับภาษีคนไทย นักลงทุนไทยเราโฟกัสมาก ผมพร้อมดูแลนักลงทุนทุกคน แต่หากเป็นนักลงทุนไทยมา ผมพร้อมที่จะให้ความสำคัญก่อน”</p><p> นายก่อกิจกล่าวเพิ่มอีกว่า ปี 2566 เราขายที่ดิน นิคมอุตสาหกรรมทำลายสถิติ ผ่านมา 9 เดือนปี 2567 เราก็สามารถทำลายสถิติปีที่แล้ว</p><p> “การขายที่ดินได้ก่อนเป็นตัวบอกว่านักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเพื่อเป็นการรองรับดึงดูดการลงทุน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมบริการ ถ้าเราจะอยู่ปลายน้ำรับการผลิตจะได้เพียงแค่ค่าแรง ซึ่งก็จะกลับกลายไปเป็นศูนย์เหรียญอีก”</p><p> “ประเทศไทยมีโอกาสมาก ในเชิงของโลเกชั่นพื้นที่ประเทศ จีโอโพลิติกส์เกิดขึ้นทำให้มีโอกาสอีกมาก นโยบายของรัฐบาลต้องสอดคล้องจะช่วยดึงดูดการลงทุนได้มาก ในเรื่องของกฎหมายต้องฝาก ควรจะมีการออกมาเยอะ เรามีข้อขัดข้องไม่มาก รอแค่ ครม.พิจารณา เมื่อประกาศสิทธิประโยชน์ไปแล้ว หากมีข้ออุปสรรคเราพร้อมมีเวทีที่จะแก้ไข และสื่อสารกับนักลงทุนกลับไป”</p><p> “ในโลกใหม่ เราจำเป็นต้องคิดแบบใหม่ เพื่อทำอีกแบบ ให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง หากยังทำแบบเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเท่าเดิม กฎหมาย คือกระบวนการคิดที่ตกผลึกแล้ว และสังคมต้องทำด้วยกัน กฎหมาย EEC ถือว่าเป็นกฎหมายล่าสุด และเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบัน อาจจะรักษาไม่ได้ทุกโรค แต่เราเชื่อว่าหลายโรคเราทำได้ดีกว่าใช้พลาสเตอร์แปะ และเชื่อว่าสิ่งที่มีจะตอบโจทย์ กับปัญหาที่เจอในปัจจุบัน แม้เราจะแก้ไม่ได้หมด แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”</p><p> “ตอนนี้มีเรื่อง GMT เป็นอัตราภาษีเท่ากันทั้งโลก ดังนั้นการดึงดูดการลงทุนในอนาคตไม่ใช่เรื่องของภาษีอย่างเดียวแล้ว จะเป็นเรื่อง Nontax (ไม่ใช่ภาษี) เป็นส่วนใหญ่ จะกลับมาเรื่องของพัฒนาบุคลากรที่มี อนาคตการกีดกันทางการค้าจะมาทุกรูปแบบ ทุกประเทศจะต้องปกป้องประเทศตัวเอง ประเทศไทยเองมีอย่างเดียว คือจะต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น แนะนำว่า บุคลากรที่ดีอย่าเรียนรู้ศาสตร์เดียว เรียนรู้ให้มาก เพราะประเทศพึ่งพาทุกคน เพราะประเทศไทยจะไปได้ไกลจะต้องเรียนรู้และยังมีความท้าทายหากจะไปต่อ ให้อนาคตเราสู้ไหว จะต้องมีการพัฒนาบุคคลเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้”</p><p style="font-size:13px;">18/9/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 กันยายน 2567 )</p>