กรมโรงงานฯ ยันครึ่งปีแรก 2567 โรงงานเปิดมากกว่าปิด

<p></p><p>กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดข้อมูลครึ่งแรกปี 2567 อนุญาตเปิดโรงงานทะลุ 1,200 โรง มูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% เผยข้อมูลเลิกจ้างแค่ 17,674 คน ปิด 667 โรงเท่านั้น “ส.อ.ท.” ชี้ลงทุนใหม่ยังไม่ใช่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้าน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ติง EEC ดีแต่ไม่มีบุคลากรพร้อมใช้งาน</p><p> วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 รายงานข่าวระบุว่า จากกระแสการเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และยังมีแนวโน้มที่จะยังไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ บวกกับสถานการณ์จากความเสี่ยงของสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เปิดเผยให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก</p><p> แต่ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) ยังมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการ หรือเปิดกิจการอยู่ที่ 1,192 โรง เพิ่มขึ้น 47.34% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครึ่งปีแรกมีมูลค่าการลงทุน 194,999.02 ล้านบาท มีอัตราการจ้างแรงงาน 44,224 คน</p><p> โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และพบว่าเป็นโรงงานประเภท 105 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฎิกูล 106 การนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสีย มาผลิตเป็นวัตถุดิบ ทยอยเพิ่มขึ้น</p><p> โรงงานเปิดใหม่มากกว่าหากเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566</p><p> หากเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2566) พบว่า มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 809 โรง มูลค่าการลงทุน 62,700.65 ล้านบาท จ้างงาน 20,412 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม และโรงงานที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน</p><p> ขณะเดียวกัน ก็พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2567 นั้นมีจำนวนโรงงานที่ปิดกิจการอยู่ที่ 667 โรง มูลค่า 18,091.89 ล้านบาท เลิกจ้าง 17,674 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นโรงงานกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เช่นกัน</p><p> นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นกิจการที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็ยพบว่ามีจำนวนโรงงานที่ผิดกิจการอยู่ที่ 358 โรง มูลค่า 42,084.1 ล้านบาท เลิกจ้าง 7,319 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดินเช่นกัน</p><p> นายเกรียงไกร เธยรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยแม้จะเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยจะเห็นได้จากทั้งการขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือการจดทะเบียธุรกิจ โดยตัวเลขการเปิดโรงงานแม้จะสูงกว่าปิด แต่หากดูประเภทกิจการหรือธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการจำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะไม่เพียงเป็นการสร้างงานแต่ยังเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ</p><p> นายอธิป อัศวานนท์ Nationnal Technology Officer สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจทำให้ทราบวว่า มุมมองของนักลงทุนนนั้น มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นที่ ระบบนิเวศน์ต่างๆ แต่กลับไม่มีความพร้อมทางด้านบุคคลากร โดยเฉพาะคนที่จะทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย</p><p> ดังนั้น สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องเร่งทำคือเรื่อง การสร้างคน การอัพสกิล รีสกิล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขชึ้น เพราะจากนั้นมันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น กิจการดาต้าเซนเตอร์</p><p> นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวย้ำมาโยตลอดว่า สาเหตุการปิดกิจการโรงงานในปี 2567 มาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น บวกกับด้านการส่งออกลดลงด้วยราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น</p><p> อย่างไรก็ตามยังคงมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งมีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้น</p><p style="font-size:13px;">13/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 กรกฎาคม 2567 )</p>