SCG ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ปรับตัว 360 องศา เดินหน้าลงทุนไทย-ตปท.

<p></p><p>ทำให้ยักษ์คอร์ปอเรตไทย “SCG” สร้างผลประกอบการในไตรมาส 2/67 ทั้งยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาส 1/67 โดยเติบโตจากรายได้ในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมทั้งการลงทุนนอกประเทศอื่น ๆ เป็นตัวแปรทำให้สามารถจบตัวเลขผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 2.52 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าจบได้สวยงาม ประเมินจากความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองระดับรุนแรงที่ผู้ประกอบการทุกคนและทุกวงการล้วนเจอะเจอเหมือนกัน</p><p> ครึ่งปีแรกรายได้ 2.5 แสนล้าน</p><p> โดยซีอีโอคนที่ 12 “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการเอสซีจีในไตรมาส 2/67 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/67 จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจี เคมิคอลส์ กำลังซื้อในตลาดอาเซียนดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมทั้งมีรายได้เงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจอื่น ส่งผลให้มีรายได้ 128,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวด 3,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53%</p><p> ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายได้รวม 252,461 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายจากเอสซีจี เคมิคอลส์ 39% เอสซีจีพี 27% เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชั่น 16% เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่งและเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล 13% และเอสซีจี เดคคอร์ 5%</p><p> ทั้งนี้ เอสซีจีได้รับผลกระทบจากวัฏจักรปิโตรเคมีโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันสูงจากสินค้าจีนตีตลาดในประเทศ และเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่อ่อนแอในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย</p><p> กาง 5 แผนขันนอตธุรกิจ</p><p> นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน SCG กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การปรับตัวของเอสซีจี เร่งเพิ่มความฟิตทางธุรกิจ สร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ดังนี้</p><p> 1.บริหารต้นทุนพลังงาน อาทิ ธุรกิจซีเมนต์ในไทยเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 47% 2.โฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น มุ่งธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม 3.ปรับปรุงการจัดเก็บ ขนส่ง กระจายสินค้า เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลวางแผนการจัดส่ง ตรวจรับสินค้า ช่วยลดเวลาทำงาน ลดความเสียหาย ลดโอกาสผิดพลาดในการรับ-ส่ง 4.ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต</p><p> 5.มุ่งส่งมอบโซลูชั่นที่ฟังก์ชั่นและราคา ตรงกับความต้องการของลูกค้า อาทิ CPAC รถโม่เล็ก ขนาดกะทัดรัด สำหรับงานก่อสร้างในเมืองที่มีซอยเล็ก บรรทุกคอนกรีตได้มากสุด 2 คิวต่อเที่ยว ช่วยบริหารปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ได้ง่าย ลดการเหลือทิ้งในไซต์ก่อสร้าง</p><p> ไฮไลต์ในครึ่งปีแรก มีการพัฒนาสินค้าใหม่ (NPD-New Products Development) สร้างยอดขาย 38,690 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของยอดขายรวม ขณะที่สินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA-High-Value Added Products &amp; Services มียอดขาย 77,037 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของยอดขายรวม และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice มียอดขาย 136,124 ล้านบาท สัดส่วนสูงถึง 54%</p><p> ด้านการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมส่งออกจากไทย ครึ่งปีแรก 2567 มียอดขาย 111,367 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม</p><p> “นูซันตารา” หนุนรายได้อินโดฯ</p><p> เทรนด์ครึ่งปีหลัง 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความท้าทายต่อเนื่อง เอสซีจีดำเนินกลยุทธ์เน้นความคล่องตัวและมั่นคง มีเงินสดและกระแสเงินสด 78,907 ล้านบาท ในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว ความต้องการสินค้าลดลงตามฤดูกาล และการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ล่าช้า</p><p> ทั้งนี้ “กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง” ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของเวียดนามและอินโดนีเซียที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง กำลังซื้อกลับมาจากแรงหนุนของรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเมืองหลวงใหม่ “นูซันตารา” รวมทั้งรัฐบาลเวียดนามผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI-Foreign Direct Investment</p><p> “เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชั่น” เร่งผลักดันปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชั่น 2 สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15-20% เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์เดิม โดยขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกาที่สามารถผลักดันการส่งออกได้มากกว่า 1 ล้านตัน กับตลาดออสเตรเลีย</p><p> ล่าสุด เปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำรายแรกในเวียดนาม “SCG Low Carbon Super Cement” ขณะที่ในไทยตลาดโตต่อเนื่อง สัดส่วนการใช้ทดแทนปูนแบบเดิมเกิน 86% พร้อมหนุนงานโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ได้ออกผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์หลากหลายรุ่น คุณภาพและราคาเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น เช่น แบรนด์ “5 STAR” ในกัมพูชา, “BEZT” ในอินโดนีเซีย, “ADAMAX” ในเวียดนาม และแบรนด์ “แรด” ในไทย</p><p> บุกหนักทั้งรีเทล-ผนังมวลเบา</p><p> “เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล” ลุยเสิร์ฟสินค้าและบริการเรื่องบ้านผ่านร้านค้าปลีก 87 ร้านในอาเซียน โดยครึ่งปีแรกได้ขยายโมเดิร์นเทรด “Mitra10” ผู้เชี่ยวชาญตลาดค้าปลีกในอินโดนีเซีย เพิ่มอีก 2 สาขา ที่เกาะสุมาตราและเกาะชวาตะวันตก นำเสนอสินค้า 65,000 รายการ รองรับลูกค้ามากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ตั้งเป้าขยาย 100 สาขาภายในปี 2573 จากปัจจุบันเปิดแล้ว 50 สาขา</p><p> “เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง” รุกนำเสนอนวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ อาทิ กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น เอสซีจี หนุนรับนักท่องเที่ยว สามารถออกแบบลวดลายเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการพ่นสีเฉพาะ เช่น ลายดอกโบตั๋น สำหรับทางเท้าย่านเยาวราช พร้อมทั้งเปิดตัวนวัตกรรมระบบบำบัดอากาศเสีย Air Scrubber สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก ภายใต้แบรนด์ ONNEX by SCG Smart Living เจาะกลุ่มลูกค้างานอาคารและสำนักงาน ขนาดพื้นที่ใช้สอยขนาดน้อยกว่า 3,500 ตารางเมตร ตั้งเป้าขยายบริการครอบคลุมอาเซียนและตะวันออกกลาง</p><p> “SCGD-เอสซีจี เดคคอร์” ผลักดันแผนสร้างการเติบโต 2 เท่าภายในปี 2573 ด้วยการเริ่มเดินการผลิตโรงงานแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO กำลังผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาด 500 ล้านบาท และเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง กลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน สวยงาม แข็งแรง เป็นที่นิยม 3 โครงการใหญ่ในเวียดนามและไทย คาดเริ่มเดินการผลิตปี 2567 นี้</p><p> ขณะเดียวกัน เอสซีจีขยายตลาดวัสดุก่อสร้างสู่อินเดีย โดย SCG International ร่วมกับบริษัท บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด ลงทุนเปิดโรงงานแผ่นผนังมวลเบาหรือ AAC Walls ภายใต้แบรนด์ “Zmartbuild Wall by NXTBLOC” แห่งแรกในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่การก่อสร้างมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง</p><p> รู้เพื่อรอด-LEARN to EARN</p><p> “เอสซีจีตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนในวงกว้าง จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ทำโครงการ Go Together ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยเริ่มจากโรงงานสระบุรี พร้อมขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่เอสซีจีมีโรงงานตั้งอยู่ เช่น กาญจนบุรี ลำปาง ขอนแก่น นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน นำของเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นวัตถุดิบ เชื้อเพลิง รวมทั้งใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”</p><p> ควบคู่กับมูลนิธิเอสซีจี ส่งเสริมแนวคิด “LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” เน้นการเรียนรู้เพื่อมีงานทำ โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ 3,000 ทุนต่อปี ในสาขาที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นต้น ผลลัพธ์สุดท้ายสัดส่วนมากกว่า 90% มีงานทำ</p><p> บรรทัดสุดท้าย บอร์ด SCG อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ในอัตรา 2.50 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 23 สิงหาคม 2567 กำหนดวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) 7 สิงหาคม 2567 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 8 สิงหาคม 2567</p><p style="font-size:13px;">5/8/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 สิงหาคม 2567 )</p>