เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มหลัง BEM ชนะประมูล มีสถานีใดบ้าง ใช้ได้เมื่อไร

<p></p><p>วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ผ่านมติ ครม.เรียบร้อยแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)</p><p> โดยที่บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดีและร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาของอัยการสูงสุดแล้ว</p><p> ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะจัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ชนะการประมูล ซึ่งพิธีดังกล่าวจะมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนาม ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567</p><p> สายสีส้มมีกี่สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ดังนี้</p><p> สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย</p><p> สถานีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)</p><p> สถานีวัดพระราม ๙</p><p> สถานีรามคำแหง 12</p><p> สถานีรามคำแหง</p><p> สถานีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)</p><p> สถานีรามคำแหง 34</p><p> สถานีแยกลำสาลี</p><p> สถานีศรีบูรพา</p><p> สถานีคลองบ้านม้า</p><p> สถานีสัมมากร</p><p> สถานีน้อมเกล้า</p><p> สถานีราษฎร์พัฒนา</p><p> สถานีมีนพัฒนา</p><p> สถานีเคหะรามคำแหง</p><p> สถานีมีนบุรี</p><p> สถานีแยกร่มเกล้า</p><p> นอกจากนี้ 17 สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีสถานีหลักที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีก 3 สาย ประกอบไปด้วย</p><p> -เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ตรงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางระหว่างสถานีหัวลำโพง-สถานีบางซื่อ-สถานีหลักสอง</p><p> -เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ตรงสถานีแยกลำสาลี สามารถเดินทางระหว่างสถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว</p><p> -เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีชมพู ตรงสถานีมีนบุรี สามารถเดินทางไประหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี</p><p> สายสีส้มเสร็จเมื่อไร</p><p> นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดเอกชนให้เร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น และเป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน</p><p> โดยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) ภายในเดือนมกราคม 2571 ซึ่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2571</p><p> ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2573 อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า จะเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย</p><p> สุริยะ ยัน เข้าร่วม 20 บาทตลอดสาย</p><p> วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)</p><p> นายสุริยะ กล่าวว่า การลงนามสัญญาร่วมลงทุนในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง</p><p> ตนจึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน</p><p> นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป</p><p> ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และยืนยันว่าจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย</p><p> อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน</p><p style="font-size:13px;">16/7/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 กรกฎาคม 2567 )</p>