พลัสฯ เทียบฟอร์มท็อป 10 อสังหาฯ ปี’67 “แสนสิริ เอพี ศุภาลัย” กอดคอทำรายได้สูงสุด

<p></p><p>พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้นำการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยผลวิจัยผลประกอบการ 10 อันดับผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำปี 2567 พบสามอันดับแรก “แสนสิริ เอพี ศุภาลัย” ทำรายได้สูงสุด</p><p> นางสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมปี 2567 แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเผชิญกับความท้าทาย แต่ยังคงมีโอกาสและแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการปรับตัวของผู้ประกอบการ การมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ เรามั่นใจว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีความหวังและโอกาสในการเติบโต</p><p> และด้วยกลยุทธ์ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการขยายโครงการระดับลักเซอรี่ ซึ่งเป็นแนวทางหลักตั้งแต่ปี 2567 และต่อเนื่องถึงปี 2568 นี้ ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นยังเป็นอีกแรงส่งเสริมให้ตลาดอสังหาฯ ขยายตัว โดยเฉพาะทำเลท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ขอนแก่น ยังคงคึกคักต่อเนื่อง</p><p> สำหรับผลประกอบการปี 2567 ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลที่พลัสฯ รวบรวมนำเสนอจาก www.set.or.th ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายละเอียดดังนี้</p><p> อันดับ 1 บมจ.แสนสิริ รายได้รวม 39,205 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,253 ล้านบาท</p><p> โดยแสนสิริมีรายได้รวม อยู่ที่ 39,205 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 5,253 ล้านบาท ลดลง 13.3% จาก 6,060 ล้านบาทในปี 2566 ทั้งนี้ แสนสิริยังคงรักษารายได้เติบโตต่อเนื่อง เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะแข่งขันสูง</p><p> โดยเติบโตจากกลยุทธ์การปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อเจาะกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยระดับพรีเมี่ยม-ลักเซอรี่ รวมถึงการรุก Strategic Locations เมืองท่องเที่ยวใหญ่ที่มีศักยภาพ โดยสัดส่วนยอดขายและยอดโอนของบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมเติบโตในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ยอดขายคอนโดมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย</p><p> อันดับ 2 เอพี ไทยแลนด์ รายได้รวม 37,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,020 ล้านบาท</p><p> โดยเอพี ไทยแลนด์ มีรายรวม 37,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,020 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 2.4% จาก 38,399 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 17.1% จาก 6,054 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าแนวราบยังคงเป็นโปรดักต์ไฮไลต์ของเอพี ไทยแลนด์ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านแฝด ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยวเครือเอพี ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้า</p><p> อันดับ 3 ศุภาลัย รายได้รวม 31,985 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,190 ล้านบาท</p><p> โดยศุภาลัย สร้างรายได้รวมที่ 31,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จาก 31,858 ล้านบาท และได้กำไรสุทธิ 6,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จาก 5,989 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ซึ่งรายได้หลักมาจากการเปิดตัวโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมที่เจาะกลุ่มลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยทำเลยอดนิยมที่สร้างยอดขายได้ทะยานสูงเป็นลำดับต้น ๆ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่</p><p> อันดับ 4 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รายได้รวม 28,151 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,491 ล้านบาท</p><p> สำหรับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 28,151 ล้านบาท ผลงานกำไรสุทธิ 5,491 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 6.7% จาก 30,170 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 26.6% จาก 7,482 ล้านบาท</p><p> อันดับ 5 พฤกษา รายได้รวม 20,996 ล้านบาท กำไรสุทธิ 456 ล้านบาท</p><p> โดยพฤกษา มีรายได้รวม 20,996 ล้านบาท ลดลง 19.7% ผลงานกำไรสุทธิลดลงถึง 79.3% เหลือ 456 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,205 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง และบริษัทจำเป็นต้องทำโปรโมชั่นด้านราคาในช่วงปลายปีเพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว</p><p> อันดับ 6 เอสซี แอสเสท รายได้รวม 20,823 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,706 ล้านบาท</p><p> โดยเอสซี แอสเสท ทำรายได้รวม 20,823 ล้านบาท ลดลง 15.2% จาก 15,821 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,706 ล้านบาท ลดลง 31.3% จาก 2,482 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้มาจากการขายโครงการแนวราบและแนวสูง ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและบริการเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางของบริษัทในการขยายไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ และรายได้ค่าที่ปรึกษาและการจัดการที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าบริหารในกิจการร่วมค้า</p><p> อันดับ 7 ออริจิ้น รายได้รวม 11,985 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,052 ล้านบาท</p><p> โดยออริจิ้น มีรายได้ 11,985 ล้านบาท ลดลง 20.9% จาก 15,157 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 61.3% เหลือ 1,052 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2,718 ล้านบาท</p><p> อันดับ 8 แอสเซทไวส์ รายได้รวม 9,941 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,457 ล้านบาท</p><p> สำหรับแอสเซทไวส์ ทำรายได้รวม 9,941 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 39.1% จาก 7,147 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 33.4% จาก 1,092 ล้านบาท</p><p> อันดับ 9 ควอลิตี้เฮ้าส์ รายได้รวม 8,695 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,150 ล้านบาท</p><p> โดยควอลิตี้เฮ้าส์ ทำรายได้รวม 8,695 ล้านบาท รายได้ลดลง 5.9% จาก 9,237 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 2,150 ล้านบาท ลดลง 14% จาก 2,503 ล้านบาท</p><p> อันดับ 10 แอล.พี.เอ็น. รายได้รวม 8,011 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111 ล้านบาท</p><p> สำหรับ แอล.พี.เอ็น. ทำรายได้รวม 8,011 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 7.6% จาก 7,444 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท ลดลง 69% จาก 353 ล้านบาท</p><p> นางสุวรรณีกล่าวถึงมุมมองทางด้านโอกาสและความหวังของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยว่า พลัสฯ ได้รวบรวม และสรุปเป็นปัจจัยหลัก ๆ 3 ข้อ ดังนี้</p><p> 1. การเติบโตของตลาดลักเซอรี่ (Luxury Segment) พลัสฯ พบว่าตลาดระดับบนยังคงมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง และดีเวลอปเปอร์สามารถปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงนี้ได้ รวมถึงการพัฒนาโครงการในพื้นที่ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสอดคล้องตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่จะสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์</p><p> 2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างโอกาสในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำเลท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ และขอนแก่น ยังคงมีความน่าสนใจ</p><p> 3. กลยุทธ์การปรับตัวของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาโครงการ อาทิ เทรนด์ Pet Friendly ทั้งแนวราบและแนวสูง โอกาสของคอนโดฯ ในเมือง และเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พัทยา รวมถึงงานบริการที่จะส่งเสริมให้อสังหาฯ เรามีมูลค่าเหนือกาลเวลา</p><p> นอกจากนี้ มองว่าในภาคอสังหาฯ เรายังได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.25% เหลือ 2% ต่อปี คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค</p><p> ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาความเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจผ่อนคลายมาตรการ LTV (อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน) โดยเฉพาะเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ซื้อบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30% หากมีการปรับลด LTV ในทุกระดับราคา คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้</p><p> อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยขับเคลื่อนตลาดคือ “งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่ได้รับความนิยมคือ บ้านเดี่ยวระดับกลาง อาคารชุด และทาวน์โฮม ขณะที่โครงการมิกซ์ยูสเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจ สะท้อนพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งดีเวลอปเปอร์ทั้งรายเล็ก-ใหญ่ก็ยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกำลังซื้อในกลุ่มเซ็กเมนต์ที่ยังมีศักยภาพ</p><p style="font-size:13px;">7/3/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 มีนาคม 2568 )</p>