ทุนจีนสุดล้ำ “ไมเดีย” ซื้อโตชิบา อัพเกรด “โรงงาน 5G”

<p></p><p>สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้นักลงทุนจากจีนเคลื่อนทัพออกมาขยายการลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนมายังอาเซียน จึงเป็นโอกาสให้กับ “ไทย” ในการดึงดูดเงินลงทุน</p><p> “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเข้าเยี่ยมชม บริษัท ไมเดีย จำกัด (Midea) ทุนจากจีนที่ตัดสินใจมาปักหมุดฐานผลิตแอร์ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2020 จนกระทั่งปัจจุบัน ไมเดียเข้าซื้อโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแบรนด์ ทั้ง โตชิบา ฮิตาชิ และยังอยู่ระหว่างขยายฐานผลิตทั้งแอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวม 5 โรงงาน ใน จ.ชลบุรี ปทุมธานี กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และกำลังก่อสร้างโรงงานใหม่อีก 2 แห่งที่ จ.ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้</p><p> “Vincent Cai” (วินเซนต์ เจีย) กรรมการผู้จัดการ เล่าถึงภาพรวมธุรกิจ ไมเดีย กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่มีอายุ 60 ปี ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไมเดียกรุ๊ปมีรายได้ 3,737 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.67% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 2,911 ล้านหยวน โดยมีกำไรสุทธิ 337 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 277 ล้านหยวน</p><p> วินเซนต์ เจีย</p><p> ปัจจุบันมีการจ้างแรงงาน 1.6 แสนคนทั่วโลก เป็นบริษัทที่ติดอันดับแบรนด์เทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก อันดับ 36 และอยู่ในรายชื่อ Fortune Global 500 มาเป็นเวลา 6 ปี</p><p> ไมเดีย กรุ๊ป ผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ภายในบ้านอัจฉริยะ ให้กับแบรนด์ดัง ๆ ทั่วโลก เช่น COLMO โตชิบา EUREKA Comfee เป็นต้น ผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอาคารเรือน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทำธุรกิจด้านนวัตกรรม</p><p> หากดูเฉพาะ “แผนกเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน” ไมเดีย กรุ๊ป รวมการวิจัยและพัฒนา การผลิต การขายและการออกแบบ การบริการหลังการขายเข้าไว้ด้วยกันแบบครบวงจร ปีก่อนมีรายได้ 1,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท มีพนักงาน 33,000 คน มีฐานลูกค้าที่ทำตลาดมากกว่า 200 ประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักคือ สหรัฐ</p><p> สปีดผลิตแอร์ 4 ล้านเครื่อง</p><p> ไมเดียเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย เป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะในครัวเรือน ตั้งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยใช้เงินลงทุนครั้งแรกมากกว่า 1 พันล้านหยวน หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 208,000 ตารางเมตร (136 ไร่) แบ่งดำเนินการก่อสร้างเป็น 3 เฟส ปีแรก 2020 ถึงปีที่ผ่านมา 2023 มีความสามารถในการผลิต 3 ล้านเครื่อง มีทั้งแอร์เครื่องแยก แอร์หน้าต่าง แอร์เคลื่อนที่ ส่วนปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน</p><p> “เหตุผลที่เลือกลงทุนในไทย คือมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม มีท่าเรือแหลมฉบังสามารถนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าที่ผลิตสำเร็จรูปแล้วไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอในระดับ A2 พลัส และมีสิทธิในที่ดินด้วย”</p><p> 5G โรงงานอัจฉริยะ</p><p> ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาระบบโรงงานอัจฉริยะ โดยการนำระบบดิจิทัล 5G และ AI มาใช้ระบบโรงงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา</p><p> “เรานำ 5G จากเครือข่าย AIS มาใช้ครอบคลุมทั้งโรงงานซัพพอร์ตให้งานโฟลว์มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องมารออัพเดตว่าเมื่อไรข้อมูลจะมาถึง โดยระบบ 5G ที่นำมาใช้ครอบคลุมทั้งกล้องเอไอ ตรวจจับการทำงานของรถ พนักงาน มีเอจีวีคาร์ (สำหรับใช้เคลื่อนย้ายวัตถุดิบแต่ละชิ้นส่วน ไปยังโรงงานภายในส่วนต่าง ๆ)”</p><p> “การนำระบบอัตโนมัติ 5G และ AI มาใช้นี้เกิดจากนโยบายของบริษัทแม่ที่จีนที่วางระบบให้เหมือนกันทั่วโลก ซึ่งระดับความรวดเร็วของการใช้ระบบอัตโนมัติทำให้การผลิตเครื่องปรับอากาศทั้งเครื่องใช้เวลาเพียงแค่ 5-6 นาทีเท่านั้น และยังเก็บข้อมูล Big Data ส่งกลับไปยังบริษัทแม่ได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องรอข้อมูลจากโรงงานแต่ละโรง เพื่อรู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบคิวซีความผิดพลาดในการทำงานและแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ”</p><p> ต่อยอดขอสิทธิ</p><p> ในช่วงแรกบริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอตามประเภท A2 พลัส เช่น ได้ระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8+3 ปี ซึ่งช่วง 3 ปีแรกของการก่อสร้างโรงงานติดปัญหาโควิด ทำให้ขนส่งเครื่องจักรเข้ามาไม่ได้ในช่วงนั้น</p><p> ล่าสุดตอนนี้จะขอสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้นำระบบออโตเมติก AI และ 5G มาใช้ยกระดับการผลิตในโรงงานให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายว่าปี 2568 จะเป็นโรงงานระดับไฮเอนด์ และที่สำคัญ บริษัทมีแผนจะพัฒนาและฝึกอบรม เพื่อเพิ่มจำนวนคนไทยขึ้นมารับมอบงานแทนคนจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในตำแหน่งสูง ๆ เช่น ระดับผู้จัดการโรงงาน</p><p> ขณะเดียวกันในอนาคตมีแผนจะเพิ่มการใช้วัตถุดิบในไทยมากขึ้น โดยการเชิญชวนซัพพลายเออร์เข้ามาลงทุนในไทย จากปัจจุบันที่ใช้วัตถุดิบในไทยประมาณ 50% เช่น เหล็ก ส่วนอีก 50% สำหรับบางชิ้นส่วนที่ไทยไม่มีวัตถุดิบ จำเป็นต้องนำเข้าจากจีน</p><p> และกำลังขยายโรงงานใหม่ในระยองอีก 2 โรงงาน จากเดิมที่ 3 โรงงาน คือ โรงงานโตชิบาที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และที่นี่ (ชลบุรี) ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จ จะมี 5 โรงงาน โดยในส่วนของแอร์ 2 โรงงานจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแห่งละ 1 ล้านเครื่อง รวมเป็น 6 ล้านเครื่องต่อปี</p><p> ซึ่งแต่ละฐานผลิตจะแยกการผลิตสินค้าแตกต่างกัน เช่น ไมเดีย โตชิบาจะผลิตตู้เย็น และเครื่องซักผ้า นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปเทกโอเวอร์โรงงานฮิตาชิ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น หากเทียบกับฐานผลิตที่จีนแล้ว โรงงานในไทยถือเป็นฐานผลิตที่มากที่สุด ส่วนที่จีนก็จะลงทุนเพิ่มอีก 2 โรงงาน</p><p> ดึงทุนจีนต้องใช้มาตรการโดนใจ</p><p> “ตอนแรกที่เข้ามาลงทุนที่ไทย เราใช้การขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอก่อน เราไม่เข้าใจว่าบีโอไอกับอีอีซีแบ่งเป็น 2 หน่วยงานใช่หรือไม่ ต้องขอสิทธิประโยชน์แยกกันหรือไม่อย่างไร และตอนนั้นไม่มี 5G แต่ตอนนี้เรามีการขยายโครงการ จึงมีแผนจะเจรจาขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีเพิ่มให้สอดรับกับรูปแบบการลงทุน ทั้งเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี 5G และการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานให้คนไทยมากขึ้น”</p><p> “สิทธิประโยชน์ที่ต้องการเพิ่มนั้นเรามองถึงโอกาสจะขอเรื่องการลดหย่อนภาษีในการนำ 5G มาใช้ การทำ Work Permit การทำฟรีวีซ่าสำหรับพนักงานและครอบครัว เป็นเวลา 10 ปี ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการทำฟรีวีซ่าสำหรับซัพพลายเออร์คนจีนที่จะเดินทางเข้ามา ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี”</p><p> ชูมาตรการสั่งตัดดูดทุนจีน</p><p> นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของอีอีซีนั้นจะเป็นมาตรการในรูปแบบการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนที่ให้ประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด เช่น หากมีพัฒนาต่อยอดโดยการใช้เทคโนโลยี การใช้แรงงานคนไทยจำนวนมาก ทางนักลงทุนสามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีโดยแยกเป็นรายโครงการได้ ซึ่งอาจจะเป็นการแยกเฉพาะในส่วนที่ขยายการลงทุนหรือส่วนที่พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นได้</p><p> สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง โดยอีอีซีจะยึดประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับกลับคืนเป็นหลักในการเจรจา</p><p> “อีอีซีจะเน้นอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็นมาตรการสั่งตัด เพื่อให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย เช่น การออกใบอนุญาต Work Permit ควบคู่กับการออกฟรีวีซ่าสำหรับดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของอีอีซีที่เป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจในรูปแบบที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น”</p><p style="font-size:13px;">1/6/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 มิถุนายน 2567 )</p>