ครึ่งปีแรก’67 อสังหาฯกทม.วูบหนัก ชี้เทรนด์ทั้งปีบ้าน-คอนโดฯติดลบ 18%

<p></p><p>เศรษฐกิจครึ่งปีแรก 2567 ผ่านไปอย่างยากลำบาก ซีอีโอบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กโดนลูกหลงกำลังซื้อแผ่วกระทบมากบ้างน้อยบ้าง โฟกัสภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถฝืนแรงโน้มถ่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน ยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบัน</p><p> ล่าสุด สำนักวิจัยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA นำเสนอผลสำรวจที่เป็นภาพสะท้อนภาวะหนักหนาสาหัสในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) เขตพื้นที่มหานครกรุงเทพ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับ 77 จังหวัด หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก 2566 พบว่า มูลค่าโครงการลดลง -6.3% จำนวนโครงการลดลง -11.3% และหน่วยลดลง -32.%</p><p> ส่งผลให้การประเมินแนวโน้มภาพรวมช่วงครึ่งปีหลัง มีทิศทางเป็นขาลงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก โดยฟันธงว่าปีนี้ทั้งปี ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯจะติดลบ -18% เมื่อเทียบกับปี 2566</p><p> มิถุนายน 67 “บ้านเดี่ยว” แรงไม่ตก</p><p> โดย “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการศูนย์ประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA เปิดประเด็นด้วยผลสำรวจภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่ามีการเปิดตัวในด้านจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสถิติเดือนพฤษภาคม 2567</p><p> ด้วยสถิติเดือนมิถุนายนมีโครงการเปิดขายใหม่รวม 39 โครงการ เทียบกับเดือนพฤษภาคมที่มีโครงการเปิดขายใหม่ 34 โครงการ รูปแบบการพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยทั้ง 39 โครงการ (โดยไม่มีที่ดินจัดสรรแบ่งแปลงขาย และอสังหาฯรูปแบบอื่น ๆ)</p><p> ในด้านจำนวนหน่วยขายเปิดใหม่อยู่ที่ 6,131 หน่วย และมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 41,461 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบข่าว) โดยจะเห็นว่าสินค้าบ้านเดี่ยวมีมูลค่าการพัฒนาสูงที่สุด ครองสัดส่วนถึง 61.4% คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกัน 25,469 ล้านบาท</p><p> สินค้าทดแทนบ้านเดี่ยวในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ “บ้านแฝด” ครองสัดส่วน 10.9% มูลค่าโครงการ 4,528 ล้านบาท เบียดกันมาสูสีกับ “ทาวน์เฮาส์” ที่ครองสัดส่วน 11.6% มูลค่าโครงการ 4,797 ล้านบาท</p><p> สินค้าที่ต้องจับตามองยังคงเป็น “คอนโดมิเนียม” ที่เปิดขายใหม่เพียง 6 โครงการ มูลค่ารวม 6,415 ล้านบาท ครองสัดส่วนเพียง 15.5% ต้องบอกว่าลดฮวบอย่างน่าใจหาย เพราะช่วงที่ตลาดคอนโดฯพีกสุด ๆ เคยครองสัดส่วนมากถึง 40-45% มาแล้ว</p><p> บทสรุปของจำนวนอสังหาริมทรัพย์ลงทุนใหม่ในเดือนมิถุนายน มีทั้งหมด 6,131 หน่วย ลดลง -8% หรือลดลง 543 หน่วย เทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่มีสถิติลงทุนใหม่ 6,674 หน่วย</p><p> เอพี ไทยแลนด์โหมลงทุน 6 โครงการ</p><p> ในเดือนมิถุนายนผู้ประกอบการรายใหญ่มีการเปิดตัวมากกว่ารายเล็กเช่นเดิม โดยส่วนใหญ่ 87% ของจำนวนหน่วยขายเป็นการพัฒนาโดยผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือ</p><p> เปิดโพยรายใหญ่ที่พัฒนามากที่สุดยังคงเป็น “บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)” ลงทุนพัฒนามากสุด 6 โครงการใหม่ จำนวน 1,673 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 27.% ของหน่วยขายในภาพรวม มีมูลค่าการพัฒนา 12,015 ล้านบาท สัดส่วน 29% ของมูลค่าที่เปิดขายในภาพรวม</p><p> ในด้านจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด ถึงแม้จะเปิดตัวเพียง 6 โครงการ แต่คอนโดฯก็ยังมีสถิติสูงสุดด้วยหน่วยเปิดขายใหม่รวม 2,043 หน่วย สัดส่วน 33.3% รองลงมาเป็นสินค้าบ้านเดี่ยว 1,897 หน่วย สัดส่วน 30.9% และทาวน์เฮาส์ 1,436 หน่วย สัดส่วน 23.4%</p><p> ซัพพลายคอนโดฯลดฮวบ -51%</p><p> จุดน่าสนใจอยู่ที่หากเปรียบเทียบจำนวนหน่วยขายบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดฯในเดือนพฤษภาคม จะพบว่า จำนวนหน่วยขายของคอนโดฯลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่จำนวน 2,126 หน่วย หรือลดลง -51.0% สินค้าบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 712 หน่วย หรือเพิ่ม 60.1% และทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 722 หน่วย หรือเพิ่ม 101.1%</p><p> มูลค่ารวมของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ในเดือนมิถุนายน 2567 รวมทั้งสิ้น 41,461 ล้านบาท ลดลง -6% จำนวน 2,689 ล้านบาท เทียบกับเดือนพฤษภาคมที่มีมูลค่าโครงการรวม 44,150 ล้านบาท</p><p> ข้อสังเกตของสถิติในเดือนมิถุนายน ลักษณะการพัฒนาคอนโดฯเข้าสู่ตลาดส่วนใหญ่เน้นเซ็กเมนต์ราคาปานกลางเป็นหลัก สวนทางกับโครงการบ้านแนวราบที่มีราคาปานกลาง-สูงเป็นสำคัญ</p><p> “อัตราขายได้” เส้นกราฟปักหัวลง</p><p> ประเภทที่มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุด คือ บ้านเดี่ยว 25,469 ล้านบาท สัดส่วน 61.4% รองลงมาสินค้าคอนโดฯ 6,415 ล้านบาท สัดส่วน 15.5% และสินค้าทาวน์เฮาส์ 4,797 ล้านบาท สัดส่วน 11.6%</p><p> เมื่อพิจารณา “อัตราการขายได้” พบว่าในเดือนแรกของการเปิดพรีเซลโครงการ มีอัตราขายได้เฉลี่ยที่ 17.7% ซึ่งลดลงถึง -27.3% เทียบกับเดือนพฤษภาคมที่มีอัตราขายได้อยู่ที่ 27.3% ต่อเดือน</p><p> เจาะลึกลงรายสินค้าพบว่า คอนโดฯมีอัตราขายได้สูงสุดในกลุ่มราคา 1-2 ล้านบาท จำนวน 290 หน่วย ขายได้แล้ว 196 หน่วย สัดส่วน 68% รองลงราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 881 หน่วย ขายได้แล้ว 308 หน่วย สัดส่วน 35% และกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 706 หน่วย ขายได้แล้ว 216 หน่วย สัดส่วน 31%</p><p> เปิดรายชื่อ 13 บิ๊กแบรนด์แข่งลงทุน</p><p> ผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้ จะพบว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (มหาชน) มีจำนวน 13 บริษัท ดังนี้ 1.บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)</p><p> 4.บริษัท พีซแอนด์ลีฟวิ่ง จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท สิวารมณ์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)</p><p> 10.บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 12.บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ 13.บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ</p><p> ในมุมของสถิติ มีการนำเดือนมิถุยายน 2567 เทียบกับมิถุนายน 2566 พบว่า มิถุนายนปีนี้ จำนวนอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทมีจำนวนโครงการเปิดใหม่ลดลง 4 โครงการ หน่วยขายลดลง 5,096 หน่วย หรือ -45.4% เทียบกับมิถุนายนปีที่แล้วมีจำนวน 11,227 หน่วย</p><p> ในด้านมูลค่าโครงการภาพรวมของมิถุนายนปีนี้ พบว่าลดลง 13,506 ล้านบาท หรือลดลง -24.6% เทียบกับมิถุนายนปีที่แล้วมีมูลค่ารวม 54,966 ล้านบาท</p><p> ยุคโควิดกำลังซื้อเดี้ยง-คอนโดฯ BOI ผุดพรึ่บ</p><p> AREA สรุปสถานการณ์จำนวนโครงการที่เปิดใหม่ 6 เดือนแรกปี 2567 ว่า มีจำนวนเปิดใหม่รวม 180 โครงการ น้อยกว่า 6 เดือนแรกปี 2566 จำนวน 23 โครงการ หรือลดลง -11.3% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2566 ที่มีจำนวน 203 โครงการ</p><p> ในด้านมูลค่าโครงการ 6 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 202,074 ล้านบาท ลดลง 13,495 ล้านบาท หรือ -6.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวม 215,596 ล้านบาท</p><p> และจำนวนหน่วยขายรวมช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 มีจำนวน 32,228 หน่วย ลดลง 15,779 หน่วย หรือลดลง -32.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีจำนวนรวม 48,007 หน่วย</p><p> “ดร.โสภณ” ระบุว่า ในยุคโควิดปี 2563-2564 สถานการณ์อสังหาฯตกต่ำ ประเมินจากสถิติยุคก่อนโควิดในปี 2562 มีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ 118,975 หน่วย มูลค่า 476,911 ล้านบาท หลังจากนั้นในยุคโควิดปี 2563 จำนวนหน่วยลดลงอย่างน่าใจหายเหลือ 73,043 หน่วย ถัดมาในปี 2564 สถิติลดฮวบลงกว่าเดิมเหลือเพียง 60,489 หน่วย หรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของปี 2562</p><p> สถานการณ์ปี 2565 สถิติการเปิดตัวโครงการใหม่ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 107,090 หน่วย ใกล้เคียงกับปี 2562 ถึงแม้จะมีภาวะสงครามประทุขึ้นแล้ว ความคาดหวังว่าปี 2566 ตลาดจะพลิกฟื้นดีขึ้นกว่าเดิม แต่เหตุการณ์จริงการลงทุนใหม่ถือว่าทรงตัวเพราะลดลงเล็กน้อยเหลือ 101,536 หน่วย</p><p> ทำให้มีการตรวจสอบสาเหตุของปรากฏการณ์การเปิดตัวใหม่เด้งกลับเกือบเท่าตัวช่วงข้ามปี ระหว่างปี 2564-2565 คำตอบที่ค้นพบคือ ในปี 2565 มีการเปิดขาย “คอนโดฯ BOI” ซึ่ง ณ ตอนนั้นรัฐบาลจำกัดเพดานราคาขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และมีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมาก</p><p> อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ไม่มีคอนโดฯ BOI ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเลย เป็นผลให้จำนวนหน่วยในภาพรวมทั้งตลาดเปิดน้อยลงเล็กน้อย</p><p> ทั้งนี้ สถิติปี 2565 ถ้าหากไม่มีคอนโดฯ BOI เข้ามาเป็นตัวช่วย หน่วยเปิดขายใหม่อาจเหลือเพียง 90,000 หน่วยเท่านั้น ไม่ใช่ 107,090 หน่วยแต่อย่างใด</p><p> จับตาแข่งกันเติมซัพพลายคอนโดฯ 1.5 ล้าน</p><p> หันกลับมาโฟกัสสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในแพ็กเกจกระตุ้นเป็นเรื่องปลดล็อกส่งเสริมการลงทุน โดยสนับสนุนให้คอนโดฯ BOI ขยายเพดานราคาจากไม่เกิน 1.2 ล้านบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ทำให้เทรนด์คอนโดฯราคาตลาดแมสจะกลับมาเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง</p><p> โดย AREA เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 สถิติการเปิดตัวคอนโดฯราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะเพิ่มซัพพลายมากขึ้นอย่างน้อย 15,000-20,000 หน่วย</p><p> “การส่งเสริมการลงทุนให้มีการขายคอนโดฯราคาถูกออกมาในตลาด จะไม่เป็นการช่วยลดซัพพลายของบริษัทพัฒนาที่ดิน แต่จะเป็นการส่งเสริมการสร้างซัพพลายใหม่ ๆ แก่ตลาด ทำให้คอนโดฯโอเวอร์ซัพพลายไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร และอาจทำให้สต๊อกหน่วยขายในมือผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น”</p><p> ดูจากสถิติไตรมาส 1/67 มีหน่วยรอขาย (สต๊อก) 238,099 หน่วย และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ หน่วยรอขายจะเพิ่มเป็น 250,000 หน่วย ซึ่งหมายความว่าอาจต้องใช้เวลาขายระบายสต๊อกอย่างน้อย 2 ปี จึงจะขายหมด (กรณีไม่มีการเติมซัพพลายใหม่เพิ่มขึ้นเลย)</p><p> ฟันธงอสังหาฯยังอยู่ในภาวะลองโควิด</p><p> นำมาสู่การคาดการณ์ปีนี้ทั้งปีของ “ดร.โสภณ” ว่า เทรนด์เปิดตัวโครงการใหม่เทียบกับปี 2566 มูลค่าเปิดตัวใหม่ที่เคยมี 559,743 ล้านบาท จะลดลง -18% อยู่ที่ 456,959 ล้านบาท</p><p> ในด้านหน่วยขายใหม่จากเดิม 101,536 หน่วย น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 84,290 หน่วย หรือลดลง -17% แม้ว่าในด้านราคาเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก จาก 5.513 ล้านบาท มาอยู่ที่ 5.421 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)</p><p> ทั้งนี้ คาดว่าจะมีคอนโดฯ BOI เปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหรือจีดีพี จะยังไม่สูงมากนัก... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่</p><p style="font-size:13px;">17/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 17 กรกฎาคม 2567 )</p>